หน้าเว็บ

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

General news 27/6/55

General News

• Willem Buiter (CitiGroup) คาดการณ์เมื่อ 2 วันก่อนว่า สเปน ซึ่งกำลังรับความช่วยเหลือเพื่อให้ธนาคารต่างๆ ในสเปนรอดพ้นจากวิกฤติสภาพคล่องนั้น ในที่สุดก็จะต้องเข้า Troika Pragramme เหมือนกรีซ เพื่อขอความช่วยเหลือให้ “ประเทศ” รอดพ้นจากวิกฤติหนี้ (ประเด็นของเขาคือปัญหาสภาพคล่องของธนาคารสเปนจะกลายเป็นปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในที่สุด) โดยจะมีไซปรัส และ อิตาลี รอเข้า Troika Pragramme เป็นรายต่อไป 

ล่าสุด ไซปรัส ได้กลายเป็นสมาชิกชาติที่ 5 ของยูโรโซนที่ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองทุนช่วยเหลือของอียูไปแล้ว หลังจากสเปนได้ยื่นเรื่องขอเงินกู้เพิ่มทุนแบงก์อย่างเป็นทางการไปก่อนหน้า เพียงไม่กี่ชั่วโมง 

ส่วนความยุ่งเหยิงของกรีซก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยรมต.คลังคนใหม่ขอลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ไม่สามารถไปร่วมซัมมิตอียูปลายสัปดาห์นี้ได้ 

นอกจากนี้ อิตาลีก็กำลังเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลที่กระชากขึ้นอย่างรุนแรง ในขณะที่เยอรมันยังยืนยันว่าจะไม่ปรับเงื่อนไขเงินกู้ของกรีซ รวมทั้งคัดค้านข้อเสนอให้แบ่งปันภาระหนี้

• ยานนิส สตูร์นาราส ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมต.คลังคนใหม่ของกรีซ หลังจาก วาสสิลิส ราปานอส ขอลาออกจากปัญหาสุขภาพ 

ทั้งนี้ สตูร์นาราส เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอเธนส์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของกรีซ (IOBE)

• สเปนขายตั๋วเงินคลังอายุ 3 และ 6 เดือนได้ 3.077 พันล้านยูโร สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2-3 พันล้านยูโร แต่มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น โดยรุ่นอายุ 3 เดือนให้ผลตอบแทนที่ 2.362% จากเดิมที่ 0.846% ส่วนรุ่นอายุ 6 เดือนอยู่ที่ 3.237% จากเดิมที่ 1.737% 

• อิตาลี เตรียมตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐลงกว่า 7 พันล้านยูโร เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเพื่อช่วยให้อิตาลีบรรลุเป้าหมายในการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 1.7% ของ GDP ในปีนี้ และ 0.5% ในปีหน้า

• โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่า บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) จะไม่ตัดสินใจประเด็นเกี่ยวกับกรีซในการประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ จนกว่าคณะผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศจะมีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

• อังกฤษมียอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 17.9 พันล้านปอนด์ สูงกว่าที่คาดไว้ และเพิ่มขึ้นจากระดับ 15.2 พันล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา

• เจฟฟรีย์ แลคเกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า การออกมาตรการกระตุ้นด้านการเงินเพิ่มขึ้นจาก FED จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ช่วยสนับสนุนมากนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

• ราคาบ้านสหรัฐเดือน เม.ย.ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน โดยดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองใหญ่ขึ้น 0.7% แต่หากเทียบกับปีก่อนราคาบ้านกลับร่วงลง 1.9% ซึ่งนับเป็นสถิติที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ราคาดิ่งลง 2.6% เมื่อเทียบรายปีในเดือน มี.ค. 

• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน มิ.ย.ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สู่ระดับ 62.0 ต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ผู้บริโภคกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ

• Jimmy Cater อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 39 ผู้ได้รับรางวัล Nobel สาขาสันติภาพในปี 2002 เขียนบทความว่า ....

สหรัฐอเมริกากำลังละทิ้งบทบาทความเป็นแชมเปี้ยนโลกด้านสิทธิมนุษยชน เพราะชนชั้นปกครองกำลังพุ่งเป้าลอบสังหารทั้งคนอื่นที่อยู่นอกประเทศและคนอเมริกันเองภายใต้นโยบายต่อต้านก่อการร้าย โดยได้ออกกฏหมายให้ประธานาธิบดีมีอำนาจล้นพ้นในการจัดการกับผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อการร้ายและผู้ให้การสนับสนุนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมใดใดทั้งสิ้น อันเป็นผลพวงจากความกลัวที่เกิดขึ้นหลังการก่อการร้าย 9/11 และเป็นการให้อำนาจอันไร้ขีดจำกัดต่อประธานาธิบดีโดยไม่ได้ขอประชามติจากคนอเมริกัน 

ผลจากการกระทำนี้ทำให้อเมริกาไม่สามารถเอ่ยอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำอีกต่อไปว่า ตนเองเป็นผู้สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน และยังฝ่าฝืนแนวทางในกระบวนการยุติธรรมที่ว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์หากยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขาผิด 

โดยผลจากการใช้ Drone (อากาศยานไร้พลขับ) ไปสังหารผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกว่า 30 ครั้งในอาฟกานิสถานทำให้ทั้งสตรีและเด็กที่เป็นผู้บริสุทธิ์ในบริเวณใกล้เคียงต้องเสียชีวิตไปหลายคน แต่คนอเมริกันกลับรับสภาพและรัฐบาลก็ระบุว่านั่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ ทั้งยังขยายวงปฏิบัติการณ์ไปยัง ปากีสถาน โซมาเลีย และ เยเมน ทั้งๆ ที่ทั้ง 3 ประเทศนั้นไม่ได้อยู่ในเขตวงสงครามแต่ประการใด 

จึงทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่มีความเคียดแค้นจากการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมของสหรัฐต้องหันหน้าเข้าไปร่วมขบวนการก่อการร้ายในที่สุด และทั้งหมดที่สหรัฐกระทำไปนั้นล้วนขัดต่อหลักการสากลด้านสิทธิมนุษชนที่สหรัฐเป็นผู้ก่อตั้งและเคยสนับสนุนมาโดยตลอด 

• สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นอนุมัติกฎหมายขึ้นภาษีของประเทศแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรค DPJ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และแกนนำพรรคฝ่ายค้านอีก 2 พรรค โดยมีความเห็นชอบในการขึ้นภาษีการบริโภคอีก 5% อันจะดำเนินการเป็น 2 ระยะภายในเดือน ต.ค. 2558

• อินโดนีเซีย รณรงค์ให้ประชาชนในประเทศกินข้าวน้อยลง หลังจากปลูกเองไม่เพียงพอ ต้องหันมาพึ่งการนำเข้าข้าวจากไทยและเวียดนาม รวมทั้งประกาศให้ทุกวันอังคารเป็นวันงดกินข้าว

• ครม. ไทย มีมติให้นำกรณีนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจสภาพอากาศและชั้นบรรยากาศเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว.โดยไม่มีการลงมติ

• ที่ประชุม ครม. มีมติขยายเวลาวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 50 ล้านบาทต่อไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2558 โดยจะให้วงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นไม่เกิน 25 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 และลดเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทในปี 2560 แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงก็อาจทบทวนมาตรการตามความเหมาะสมต่อไป

Equity Market 

• SET Index ปิดที่ 1,151.09 จุด เพิ่มขึ้น 3.66 จุด หรือ 0.32% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 18,332ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ 922 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หุ้นไทยเคลื่อนไหวช่วงแคบ และตลาดมีมูลค่าการซื้อขายเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ยุโรป โดยอยู่ระหว่างการรอผลประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในปลายสัปดาห์นี้ 

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างทรงตัว โดยเคลื่อนไหวในช่วง -0.01% ถึง0.00% ยกเว้นช่วง 18-20 ปีที่ปรับลดลง -0.02% 

สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น 30 ปี และพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ รุ่น 10 ปี วงเงินรวม 23,500 ล้านบาท 

• สบน. มีแผนขายพันธบัตรรัฐบาล 1.64 แสนล้านบาท ในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2555 (ก.ค.-ก.ย.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตารางการประมูลพันธบัตรรัฐบาลทั้งสิ้น 5.2 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 

ทั้งนี้ สบน.ยังมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้กับประชาชนทั่วไปในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาทภายในเดือน ก.ย.นี้ แต่จะต้องขึ้นกับการประเมินวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปอีกครั้งว่ามีความรุนแรงจนจำเป็นจะต้องเพิ่มเงินคงคลังหรือไม่ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหามากนักก็อาจจะยกเลิกการออกพันธบัตรดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น