หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เดลินิวส์ 28/2/57

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ฟันธงเศรษฐกิจถดถอยแน่การเมืองยืดเยื้ออีก2เดือน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวใน งานสัมมนาเศรษฐกิจเรื่องเปิดมุมคิดพิชิต ความเปลี่ยนแปลงสู่ชัยชนะการลงทุน จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ว่า สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ถ้าปัญหาการเมืองสามารถยุติลงได้ภายในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ แต่หากการเมืองลากยาวต่อไปอีก 2-3 เดือน ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ในภาวะถดถอย โดยได้มีการประเมินกันไว้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.5-3%

ข้าวถุงเฮรัฐเลิกจำนำข้าวเอกชนมั่นใจแข่งขันได้
นางโสพรรณ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายข้าวตราหงส์ทอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดค้าข้าวสารภายในประเทศเตรียมกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังรัฐบาลยุติโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลนาปรังปี 57 เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำตั้งแต่ปี 54 ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวของไทยในภาพรวม เนื่องจากต้นทุนข้าวสารที่นำมาบรรจุถุงจำหน่ายนั้น มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 40%

ชูศัลยกรรมปั้นรายได้ท่องเที่ยว
นางศรีสุดา วณภิญโญศักดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้ร่วมกับโรงพยาบาลยันฮี จัดทำโปรเจคท์ ไทยแลนด์ เอ็กซ์ตรีม เมคโอเวอร์ เพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนและฮ่องกงที่ชื่นชอบการทำศัลยกรรมความสวยงาม เช่น การชะลอริ้วรอยแห่งวัย และการฉีด โบท็อกซ์ เป็นต้น เนื่องจากต้องใช้จ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนบาทขึ้นไป รวมถึงจะพำนักรักษาตัวในประเทศไทยนาน จึงเป็นการทำรายได้ 2 ทาง โดย ททท.จะใช้จุดขายประชา สัมพันธ์เรื่องฝีมือแพทย์ไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และราคาที่อยู่ในระดับกลาง จึงเรียกว่าเป็นการบริการที่ คุ้มค่ากับราคา (แวร์ลูฟอร์มันนี่)

ตลท.ยันพื้นฐานหุ้นไทยแกร่งน้องใหม่จ่อระดมทุน2.1แสนล.

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ขอให้นักลงทุนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและใช้วิจารณญาณในการลงทุน ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นหลัก รวมถึงไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวลือที่เกิดขึ้นกับหุ้นในตลาดหุ้นของประเทศไทย และขอให้อย่าไปเจาะจงเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองกับการซื้อขายหุ้นเนื่องจากเชื่อว่า แม้ราคาจะปรับลดลง แต่หากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงราคาก็จะกลับขึ้นมาได้

แห่ทำประกันภัยก่อการร้ายพุ่ง
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองทำให้ธุรกิจหันมาซื้อประกันภัยจลาจลและก่อการร้ายเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ส่วนลูกค้าที่ซื้อประกันมีใครบ้างนั้นไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่คาดว่าปีนี้จะมีเบี้ยประกันเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท จากเดิมมีเบี้ยประกัน 200 ล้านบาท และปี 55 มีเบี้ยเพียง 140 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันภัยพิเศษหรือสเปเชียลโปรดักส์ปัจจุบันอยู่ที่ 600-700 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะขยายบริการลูกค้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งกำลังศึกษารายละเอียดอยู่ เพราะแต่ละประเทศมีข้อจำกัดในด้านกฎระเบียบ

ชงรัฐกันเงิน 1% คุมทุจริตชี้จากโครงการลงทุน ลดขนาดประชานิยม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังขาดเครื่องมือประเมินผลการใช้งบประมาณภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ทำให้การใช้งบประมาณปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณากันงบประมาณในทุกโครงการของภาครัฐไว้ 1% ของวงเงินดำเนินโครงการทั้งหมด เพื่อจัดจ้างเอกชนเข้ามาเป็นผู้ประเมินผลมากกว่า การใช้กลไกของรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันมีเพียงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้นจึงอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริตได้

อาร์เอสโชว์กำไรปี56โตสูงสุดรอบกว่า30ปี
นายดามพ์ นานา กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลดำเนินงานในปี 56 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110 ล้านบาท หรือ 38.73% เมื่อเทียบกับปี 55 ที่มีกำไรสุทธิ 284 ล้านบาท เป็นผลจากบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 3,461.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 649.10 ล้านบาท หรือ 23.1% โดยมาจากธุรกิจสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุ 1,986.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 793.3 ล้านบาท หรือ 66.5% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบการดำเนินงานกว่า 30 ปี

จี้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวหนีคู่แข่ง

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนา เปิดผนึกเอสเอ็มอีไทยสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในยุคเออีซี จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สทท.) ว่า หากภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างอะไรประเทศเพิ่มเติม ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า และเวียดนามจะพัฒนาขึ้นมาเทียบเท่าไทย โดยเฉพาะพม่า กำลังเป็นที่จับตาเนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศ และยังมีแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ภาคผลิต-ส่งออก-ลงทุน-บริโภคเดี้ยงทุกตัว ศก.เดือนมกราคมยังแย่

สำนักงานเศรฐกิจคลัง เปิดตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 57 เดือนมกราคม สาหัสทุกตัว ลงทุน ส่งออก บริโภค การผลิต ท่องเที่ยว กอดคอกันติดลบ ปัจจัยหลักมาจากปัญหาคามขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ยอมรับปี 57 จีดีพีโตต่ำกว่า 3% หากปัญหาภายในยังยืดเยื้อ ด้านแบงก์ชาติยอมรับ เช็คเด้งเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง

เตือนภาคธุรกิจเงินสดขาดมือ อสังหาฯ-ผลิตเสื้อผ้า-ท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับภาคธุรกิจจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การเดินขบวนและชุมนุมในย่านเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งเป็นระยะเวลานาน ได้ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงๆไม่ได้ และมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนานข้ามไตรมาสแรก อีกทั้งทิศทางเศรษฐกิจยังดูเหมือนจะอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องจากการบริโภคและการลงทุนที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการประสบกับความยากลำบากในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น

หอการค้าชี้อีกไม่เกิน5ปี พม่า-เวียดนามแซงไทย อินโดฯแย่งเม็ดเงินลงทุน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนา"เปิดผนึกเอสเอ็มอีไทยสู่การปฎิรูปอุตสาหกรรมในยุคเออีซี" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและ ขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ของไทยต้องปรับตัว เพราะหากประเมินจาก ศักยภาพการแข่งขันแม้เวลานี้ไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อ การลงทุนเป็นอันดับต้นของเออีซีแต่หากภายใน5ปีข้างหน้าไทย ไม่มีการพัฒนาประเทศเพิ่มเติมประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ และเวียดนามจะพัฒนาขึ้นมาเท่ากับไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ กำลังเป็นที่จับตาอย่างมาก นอกจากนี้จากการหารือกับนักลงทุน ญี่ปุ่นพบว่าต่างสนใจเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เพราะเป็นตลาด ใหญ่ ทรัพยากรมาก จึงเป็นประเทศคู่แข่งของไทยในเวลานี้

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ศก.โคม่า-เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเจ๊ง โบรกชี้การเมืองยืดเยื้อเกินครึ่งปีไทยถดถอยแน่
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำ เดือนม.ค.2557 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง ขณะที่ภาคส่งออกกลับมาหดตัวเล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือนม.ค.2556 อยู่ที่ระดับ 61.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2554

กสท.บี้เคเบิล-ทีวีดาวเทียมเรียงช่องกันคนดูงง

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กสท.เตรียมออกแนวทางการปรับเปลี่ยนเรียงหมายเลขช่องของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด คือ 1-36 เป็นฟรีทีวีในระบบดิจิตอล หลังจากนั้นจึงเป็นรายการของเคเบิลและทีวีดาวเทียม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับชมเกิดความสับสน จากก่อนหน้านี้กสท. ได้ออกประกาศให้ดาวเทียมและเคเบิลทีวีสามารถจัดเรียงเลขช่อง 1-10 เองได้ ซึ่งกังวลว่าจะทำให้การรับชมทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องเกิดความสับสนมากขึ้น เนื่องจากต้องบวกเพิ่มอีก 10 จากการเลือกลำดับหมายเลข หรือช่องที่เลือกไว้ เช่น ช่อง 13 เป็น 23 เป็นต้น

น้ำประปาไทยทุ่ม2.5พันล.เพิ่มผลิต
นายสมโพธิ ศรีภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในต่างประเทศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพม่า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 200-250 ล้านบาท กำลังการผลิตแค่ 4 หมื่นคิวต่อวันเท่านั้น ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อรายได้ของบริษัทเท่าไร แต่มองเป็นโครงการทดลองมากกว่า ส่วนแผนลงทุนในเวียดนามนั้นบริษัทเคยคุยกับเวียดนาม 3-4 ปีที่แล้ว 2 โครงการ 2 เมือง แต่หลังๆ คุยแล้วเห็นว่ายากที่จะไปสู่จุดหมายร่วมกันได้ จึงยุติการคุย และรอสักพักหนึ่งก่อน เมื่อเขาเข้าใจได้มากขึ้นก็อาจกลับมาคุยกันใหม่

ลุ้นภาษีเครื่องดื่ม2หมื่นล.

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้เห็นข้อเสนอกรณีกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขที่มีการประชุมและเสนอให้กรมขึ้นภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยแล้ว โดยข้อเสนอนี้สอดคล้องกับแนวคิดของกรมที่จะปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มใหม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องการให้เป็นอย่างไร กรมในฐานะผู้ปฏิบัติทำได้เพียงศึกษาข้อดีข้อเสีย และนำเสนอรัฐบาล โดยยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มใหม่จะทำให้การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น