หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 25/4/56

General News
----------------



• ประธานาธิบดีอิตาลี เตรียมประกาศเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และยุติภาวะทางตันทางการเมืองที่ดำเนินมานาน 2 เดือน โดยตัวเก็งได้แก่ จูเลียโน อามาโต อดีตนายกรัฐมนตรี แมตเตโอ เรนซี นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ กับ เอ็นริโก เลตตา รองหัวหน้าพรรค PD

• ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเดือน เม.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 104.4 จุด จาก 106.7 จุดในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี วิกฤตสถาบันการเงินในไซปรัส และสภาพอากาศที่หนาวเย็นจนส่งผลให้กิจการทางเศรษฐกิจชะลอลง

• ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือน มี.ค.ลดลงหนักสุดในรอบ 7 เดือน หรือลดลง 5.7% จากเดือนก่อน เนื่องจากอุปสงค์เครื่องบินเชิงพาณิชย์ โลหะ และการลงทุนภาคธุรกิจ ชะลอตัว บ่งชี้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ยอดสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนที่แล้ว

• คณะกรรมการกำกับกฏระเบียบธนาคารจีน (CBRC) แสดงความมุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่หน่วยงานระดมทุนของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น (LGFV) ด้วยการสั่งให้ ธ.พาณิชย์เพิ่มการตรวจสอบสินทรัพย์ของผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง และจำกัดมูลค่าไว้ที่ 4% ของสินทรัพย์รวมของธนาคาร หลังจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินรายการหนึ่งที่เอาไปขายผ่านธนาคารหัวเซียไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนรายปีได้ และกองทุนซิติกทรัสต์ของจีนประกาศเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน

• องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไวรัสไข้หวัดนก H7N9 สามารถแพร่จากสัตว์ปีกไปสู่มนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดและคร่าชีวิตชาวเอเชียไปเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ยังต้องการหลักฐานเพิ่ม เติมเพื่อพิสูจน์ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถติดต่อกันระหว่างมนุษย์ได้หรือไม่

• นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจเข้าหารือเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก หลังจาก ก.พาณิชย์ จัดทำแผนขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป

• ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ รายงานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index โดยพบว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่มองแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่าน่าจะแย่ลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ ค่าแรง การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท และความต้องการของตลาดที่ลดลง

• สศค.วิเคราะห์ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับต้นทุนในการทำธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศซึ่งสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มใน 2 เดือนแรกของปียังคงเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแผนการลงทุนต่างๆ ชัดเจนขึ้น

• ส.อ.ท. แนะให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% เพื่อช่วยผู้ส่งออกในการลดผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า รวมทั้งร่วมกำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME พร้อมเตรียมเข้าปรึกษากับ ก.พาณิชย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

• บลจ. แมนูไลฟ์ เปิดเผยผลวิจัยว่า ครัวเรือนในเอเชียมีระดับความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ที่สะสมไว้ค่อนข้างสูง และหากบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะช่วยเสริมแหล่งรายได้หลังเกษียณได้อย่างมีนัยสำคัญ แทนที่จะต้องไปขายทรัพย์สินที่สะสมไว้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และโภคภัณฑ์ หรือเบิกเงินประกันชีวิตหรือเงินฝากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณ

Equity Market
----------------



• SET Index ปิดที่ 1,553.85 จุด เพิ่มขึ้น 4.50 จุด หรือ +0.29% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 67,639.66 ล้านบาท โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นน้อยสุดหากเทียบกับภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการใหม่ๆ มาแก้ปัญหาค่าเงินที่แข็งค่า ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามคือการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจและการประชุม ธ.กลางสหรัฐ (FED) ที่เป็นครั้งแรกที่ เบน เบอร์นานเก้ จะไม่เข้าร่วมประชุม รวมถึงการประชุมธ.กลางยุโรป (ECB) ในช่วงสัปดาห์หน้าที่คาดกันว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

• SET Index ไตรมาสแรกให้ผลตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยปรับเพิ่มขึ้น 12.2% ตั้งแต่ต้นปี ทำให้คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่อเนื่องในช่วงอีก 1 ปีข้างหน้า และไทยจะยังเป็นประเทศที่นักลงทุนเลือกลงทุนระยะยาวตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขอเข้าจดทะเบียนใน SET อีกประมาณ 13 บริษัท และใน MAI อีก 9 บริษัท เช่น บมจ. การบินกรุงเทพ และบมจ. สายการบิน นกแอร์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 ตลาดในอนาคต

สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
-----------------------------------------



นักลงทุนสถาบัน -278.48
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ +1,048.23
นักลงทุนต่างชาติ -6,586.59
นักลงทุนทั่วไป +5,816.84

• ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ปิดที่ 2,218.32 จุด เพิ่มขึ้น 33.78 จุด หรือ +1.55% เพราะนักลงทุนช้อนซื้อหุ้นกลุ่มสื่อสารและเทคโนโลยี ประกอบกับ โกลด์แมนแซคส์ แนะนำให้ซื้อหุ้นจีน เพราะราคาอยู่ในระดับที่น่าลงทุน หรืออยู่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งหลังผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

• ตลาดหุ้นเอเชียพุ่งขึ้นกว่า 1% ตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากผลประกอบการของบริษัทสหรัฐที่ประกาศวานนี้ออกมาแข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ดัชนี MSCI สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.41% ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น +2%

ส่วนตลาดหุ้นยุโรปก็ปรับตัวขึ้นในการซื้อขายช่วงแรก หลังจากมีการประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และมีการคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่อไป

ทั้งนี้ตลาดหุ้นออสเตรเลีย +1.7% ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก

Fixed Income Market
-------------------------ฃ



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อยในกรอบ -0.03% ถึง 0.00% สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร

• ธปท. เปิดเผยว่า ได้ติดตามภาวะการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และได้เตรียมมาตรการดูแลไว้พร้อมเพื่อการนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็น แม้แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานที่ดีของประเทศ แต่หากเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเกินไปก็อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.28% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าแข็งค่าสุดในภูมิภาค เช่น มาเลเซียแข็งค่าขึ้น 0.16% อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 1.00% สิงคโปร์อ่อนค่าลง 1.44% ฟิลิปปินส์อ่อนค่าลง 0.63% เวียดนามอ่อนค่าลง 0.41% และเกาหลีใต้อ่อนค่าลง 4.28%

Gold Corner
-------------



• ฮั่วเซ่งเฮง ระบุว่า คนไทยแห่ซื้อทองรูปพรรณสูงสุดในรอบ 21 ปี ทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตทองรูปพรรณจากวันละ 3,000 เป็น 5,000 เส้น หรือเพิ่มขึ้น 40%

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงผันผวนและปรับขึ้นลงแรง ซึ่งจากนี้ไปจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงที่ต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากกองทุน ETF ลดการถือครองทองคำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ยุโรป และจีน ยังย่ำแย่ จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

• โกลด์แมนแซคส์ ลดประมาณการราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะสั้นและลดมุมมองจากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นปานกลาง โดยลดคาดการณ์ดัชนี Standard & Poor’s GSCI (สินค้าโภคภัณฑ์ 24 ประเภท) ลงจากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% ใน 3 เดือนข้างหน้า เป็นเพิ่มขึ้น 2.5% ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ ยุโรป และจีนยังไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นราว 10% ก่อนที่จะปรับลดลงอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น