หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 24/8/55

General News
-----------------



• Markit Economics รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ (Composite PMI) ของยูโรโซนในเดือน ส.ค. ลดลง 7 เดือนติดต่อกัน มาอยู่ที่ 46.6 โดยยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 

เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจของยูโรโซนก็จะยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อไป 

• Zerohedge เห็นพ้องกับรายงานฉบับใหม่ของ Citigroup ที่ว่า ในที่สุดแล้วกรีซก็ต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน ซึ่ง Citigroup ให้โอกาสความเป็นไปได้ถึง 90% ที่จะเกิดขึ้นใน 12-18 เดือนข้างหน้า 

แต่กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลืออีกครั้งจาก Troika (European Commision - EC), European Central Bank – ECB และ IMF) เนื่องจาก Troika ต้องซื้อเวลารอให้สร้างแนวป้องกันตนเองที่จะรับแรงกระแทกอันรุนแรงให้ได้เสียก่อน และถ้าไม่ช่วยกรีซอีกครั้งในเดือนหน้ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้ทันที (Default) ซึ่งผลลัพธ์จะสยองขวัญมาก

• Michael Saunders, Robert Crossley และ Peter Goves (หัวหน้าทีมจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Citigroup) มองว่า ใน 2.3 ปีข้างหน้า จำนวนประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ AAA จะถูกลดลงไปหลายประเทศ และน่าจะเหลือแค่ประเทศคานาดากับกลุ่มสแกนดิเนเวียนเท่านั้นที่ยังคงระดับ AAA เอาไว้ได้ในระยะยาว

• โวล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลังเยอรมนี ระบุว่า การขยายเวลาปฏิรูปเศรษฐกิจให้กรีซไม่ใช่วิธี การแก้ปัญหา แต่ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบรรดาเจ้าหนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้กรีซดำเนินการปฏิรูปตามกรอบเวลา 2 ปีตามที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก 

• สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) รายงานว่า GDP ของเยอรมนีในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 0.6% โดยยืนยันตัวเลขคาดการณ์ GDP ไตรมาส 2 ที่ 0.3% หลังจากขยายตัว 0.5% ในไตรมาสแรกจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการส่งออก ในขณะที่บริษัทต่างๆ ยังชะลอการลงทุนเนื่องจากวิกฤติยูโรโซนเริ่มส่งผลกระทบต่อเยอรมนี

• รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐ เมื่อ 31 ก.ค - 1 ส.ค.ระบุว่า สมาชิกหลายคนสนับสนุนให้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินหากเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดว่า FED จะออก QE3 ในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 -13 ก.ย.

• เจมส์ บุลลาร์ด ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า รายงานการประชุม FOMC ที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น “ค่อนข้างเก่า" เนื่องด้วยเศรษฐกิจสหรัฐได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา 

• สนง.งบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่า GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ใน ไตรมาส 4 ปีนี้อาจลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

นอกจากนั้น ในปีหน้าสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยและอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9% ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลจากภาวะตึงตัวทางด้านการคลัง ถ้าหากมาตรการลดหย่อนภาษีหมดอายุลงและรัฐบาลดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายลงจำนวนมากตามแผนในเดือนมกราคม 2556 (Fiscal Cliff)

• ก.แรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. เพิ่มขึ้น 4,000 ราย มาอยู่ที่ 372,000 ราย สะท้อนว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่เสถียร

• ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 372,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับ มิ.ย. ซึ่งเท่ากับระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี 

- ราคากลางของบ้านใหม่ปรับตัวลดลง 2.5% มาอยู่ที่ 224,200 ดอลลาร์ 

- ยอดขายบ้านมือสองอยู่ที่ 4.47 ล้านยูนิต เพิ่มขึ้น 2.3% 

- ราคาขายบ้านมือสองโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.4% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 187,300 ดอลลาร์ 

ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ อันเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดอสังหาฯ น่าจะกำลังฟื้นตัว 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ แสดงความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตเพียงเล็กน้อยประกอบกับการที่สินเชื่อจำนองอยู่ในภาวะตึงตัว แสดงให้เห็นว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ยอดขายบ้านจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

• ผลสำรวจของ Gallup ระบุว่า 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันทั้งหมดกำลังยากจนและไม่สามารถซื้อหาอาหารเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวไม่เร็วและไม่มากพอ ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นไปอีก 

• รัสเซียได้เข้าเป็นสมาชิกรายล่าสุดขององค์กรการค้าโลก (WTO) หลังจากเจรจาอขอเข้าเป็นสมาชิกมากว่า 20 ปี ส่งผลให้บรรดาบริษัทต่างชาติมีความหวังที่จะขยายการลงทุนเข้าไปในรัสเซีย เพราะเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียตั้งเป้าว่าจะฟื้นฟูภาคการผลิตโดยอาศัยเงินทุนจากต่างชาติเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

• ธ.กลางจีน (PBOC) อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง (open market operation) 2.78 แสนล้านหยวน สูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนม.ค. โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร เพื่อพยุงเศรษฐกิจ หลังจากที่การปล่อยสินเชื่อภาคธนาคารอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบปีในเดือนที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า PBOC เลือกที่จะทำมาตรการนี้แทนการลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เนื่องจากมีความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในอนาคต

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนที่จัดทำโดย HSBC ในเดือนส.ค. ลดลงสู่ 47.8 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน (ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตทั่วประเทศของจีนในเดือน ส.ค.หดตัวลง) เนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศคู่ค้าทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกของจีนต้องชะลอตัวลง

• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสิงคโปร์ในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 4.0% ชะลอตัวลงจาก 5.3% ในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวสู่ 2.4% จาก 2.7% เนื่องจากต้นทุนด้านที่อยู่อาศัย การขนส่ง และราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันลดลง 

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะลดลงเล็กน้อยภายใน 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาอาหารภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และเศรษฐกิจกำลังเริ่มซบเซา

• ก.คมนาคม วางแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบก น้ำ และอากาศ ตั้งแต่ปี   ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนระบบรางมากที่สุด 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดระยะเวลาการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายจะลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้เหลือ 5% ภายใน 4 ปี

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 5% ถึงแม้การส่งออกจะชะลอตัวจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป แต่ยังคงมีแรงส่งจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น

Equity Market
----------------



• SET Index ปิดที่ 1,237.64 จุด เพิ่มขึ้น 3.50 จุด หรือ +0.28% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34,747.74 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีได้เคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยมีแรงซื้อในกลุ่มสื่อสาร หลังจากมีความคืบหน้าในการประมูลใบอนุญาต 3G ประกอบกับผู้ลงทุนมีความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยุโรป

Fixed Income Market
------------------------



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงอยู่ในช่วง -0.05% ถึง -0.08% โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 4,528 ล้านบาท สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท.อายุ 3 ปีและ 14 วันมูลค่ารวม 47,000 ล้านบาท

• ThaiBMA เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีบริษัทเอกชนไทยจำนวนมากออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุนและสำรองสภาพคล่องรวม 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่เป็น 2.2 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ปีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนปีนี้จะแตะระดับ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น