หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 29/8/55

General News
------------------



• ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะไม่เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางทั่วโลกที่เมือง Jackson Hole รัฐ Wyoming ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้ ขณะที่ประธานธนาคารกลางสเปนจะยังคงเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

• ในเดือน ก.ค. ธนาคารในยูโรโซนปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.06 พันล้านยูโร (1.008 หมื่นล้านดอลลาร์...) หลังจากที่ยอดปล่อยกู้ใน เดือนมิ.ย.ลดลง 3.48 พันล้านยูโร และการปล่อยกู้แก่ภาคครัวเรือนลดลง 7.61 พันล้านยูโร หลังจากเพิ่มขึ้น 3.77 พันล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า 

• นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า รัฐบาลฝรั่งเศสอาจต้องลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีหน้าซึ่งเคยคาดว่าจะเป็น 1.2% ลง โดยอาจจะปรับให้เหลือ 0.5%-1.0% ซึ่งจะส่งผลให้ต้องลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีมากขึ้นเพื่อทำให้แผนลดยอดขาดดุลมีความคืบหน้า 

ทั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณแรกที่รัฐบาลจะปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ส่วนใหญ่มีความเห็นในเชิงลบต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศสมากกว่า

• GDP ของสเปนในไตรมาส 2 ลดลง 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลง 0.3% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น โดยมีเหตุมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาส 2 ที่ร่วงลง 1% เพราะผลกระทบจากการลดรายจ่ายครั้งใหญ่ของรัฐบาลเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณ 

• สเปนประมูลขายตั๋วเงินคลังอายุ 3 และ 6 เดือน ได้ 3.6 พันล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายสูงสุดที่ระดับ 3.5 พันล้านยูโร โดยมีอัตราผลตอบแทนลดลงจากเดือนก่อน (ตั๋วเงินคลัง 3 เดือนอยู่ที่ 0.946% ลดลงจาก 2.434% ส่วน 6 เดือนอยู่ที่ 2.026% ลดลงจาก 3.691%) 

• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ 60.6 ในเดือน ส.ค. ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนจากระดับ 65.4 ในเดือน ก.ค. ส่วนดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจร่วงลงสู่ 70.5 จาก 78.4 ในเดือนก.ค. เนื่องจากผู้บริโภคกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มทางธุรกิจและการจ้างงาน

• ราคาบ้านในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. โดยดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองใหญ่เพิ่มขึ้น 0.9% หลังปรับตามฤดูกาลเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 0.5%

• รัฐบาลญี่ปุ่นลดประมาณการเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน จากการลดลงของยอดส่งออกเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและการอ่อนแอลงของการผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวแซงหน้าประเทศส่วนใหญ่อื่นๆ ในกลุ่ม G-7

• IMF ระบุว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ โดยจะเติบโตต่ำกว่า 3% และจะขยับขึ้นเป็น 3.5% ในปีหน้า เนื่องจากความต้องการทั่วโลกซบเซาลง กับความตึงเครียดทางการเงินและการค้าอันเนื่องจากวิกฤติยูโรโซน

• ยอดนำเข้าของฟิลิปปินส์ในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นสู่ 5.10 พันล้านดอลลาร์ หรือ 13.3% เมื่อเทียบรายปี อันเนื่องมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิกส์ที่ต่อเนื่อง (คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของยอดนำเข้า) ส่วนยอดขาดดุลการค้าได้ขยายตัวขึ้นสู่ 787 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 369 ล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. ปีก่อน

• รมว.อุตสาหกรรมของอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่าอินโดนีเซียจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่าง ประเทศได้ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2556 จากอุตสาหกรรมก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และจากโรงงานปิโตรเคมีของเกาหลีใต้ในอินโดนีเซียที่จะช่วยลดการนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีซึ่งมีมูลค่าราว 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีแผนจูงใจให้การดำเนินงานของโรงกลั่นดังกล่าวปลอดภาษีเป็นเวลา 10 ปี อีกด้วย

• BOI รายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใน 7 เดือนปีนี้อยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 62% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายการลงทุนจากโครงการเดิม 71% หรือ 2.57 แสนล้านบาท 

อนึ่ง กลุ่มที่นักลงทุนสนใจลงทุนสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าเงินลงทุน 1.22 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุน 8.13 หมื่นล้านบาท 

• ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยในเดือน ก.ค. ลดลง 5.82% จากปีก่อน ในขณะที่ลดลง 9.6%ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการลดลง 2 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ก. อุตสาหกรรม ยังคงคาดการณ์ว่า MPI ปีนี้จะเพิ่มขึ้น 6%-7% จากปีก่อน

• ยอดหนี้สาธารณะคงค้างของไทย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 4.792 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.34% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ ณ ระดับ 4.668 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.55% ของจีดีพี

Equity Market
-----------------



• SET Index ปิดที่ 1,233.16 จุด ลดลง 0.57 จุด หรือ -0.05% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 26,455 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 16 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ ยังคงรอปัจจัยบวกจากต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ 

Fixed Income Market
--------------------------



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างทรงตัว โดยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ในช่วง -0.01% ถึง 0.01% 

• นักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคอาเซียนของธนาคาร เอชเอสบีซี คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.5% ก่อนจะเติบโตลดลงเป็น 4.5% ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3.4% ส่วนปีหน้าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.8% 

ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะยังทรงตัวอยู่ที่ 3.0%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น