หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 17/8/55

General News


• สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนมิ.ย.ที่ปรับขึ้น 0.8% และหากเทียบกับเดือนก.ค.ปี 2554 ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 2.8% 

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการในอังกฤษระบุว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่ได้ช่วยกระตุ้นการซื้อขายแต่อย่างใด

• ก.พาณิชย์สหรัฐฯ รายงานตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือน ก.ค. ว่าอยู่ที่ 746,000 ยูนิต ลดลง 1.1% จากเดือน มิ.ย. แต่เพิ่มขึ้น 21.5% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ส่วนตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างอยู่ที่ 812,000 ยูนิตในเดือน ก.ค. พุ่งขึ้น 6.8% จากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 4 ปี 

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง 

• ก.แรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น 2,000 รายไปอยู่ที่ 366,000 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์นั้นเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. แสดงถึงแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมมีการฟื้นตัวดีขึ้น 

• ศาสตราจารย์ Tim Duy ผู้จัดตั้ง Tim Duy's Fed Watch เพื่อติดตามการทำงานและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อันได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง เชื่อว่า FED ไม่น่าจะออก QE3 ในการประชุม FOMC เดือนหน้า เนื่องจาก Ben Bernanke ประธาน FED เป็นผู้เห็นข้อมูลเศรษฐกิจทั้งหมด Bernanke จึงน่าจะรู้ว่าผลดีจากจะการออก QE เพิ่มไม่คุ้มกับต้นทุนที่จะเกิดจากการออก QE

• ศาสตราจารย์ James Hamilton (University of California at San Diego) เชื่อว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น มากกว่าจะเกิดจากความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในกรณีอิหร่าน อิสราเอล 

ดังนั้น ผลจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะไปกระทบดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (Headline CPI) ในที่สุดโดยทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบไปยังเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกา และจะยิ่งทำให้ FED ไม่กล้าออก QE เพิ่ม

• Knight Frank บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาฯ ชั้นนำระดับโลก คาดว่า สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีจีดีพีต่อประชากรมากที่สุดในปี 2050 แซงหน้ายุโรปและอเมริกาเหนือ โดยคาดว่า ในปี 2050 จีดีพีต่อประชากรของสิงคโปร์จะเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 137,710 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ส่วนสหรัฐฯ นั้นจะตกจากอันดับ 3 ในปี 2010 ไปอยู่ที่อันดับ 5

• โฆษก ก.พาณิชย์จีน กล่าวว่า บริษัทจีนกำลังเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) นอกภาคการเงินเพิ่มขึ้น 52.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ไปอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากมูลค่า ODI ที่เพิ่มขึ้น 48.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 

ทั้งนี้ จีนลงทุนในฮ่องกง อาเซียน และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 67.7%, 36% และ 29.6% ตามลำดับ ในขณะที่ลงทุนในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 1.2%

• KPMG คาดว่า จีนจะยังคงเพิ่มการลงทุนโดยตรงในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ เป็นโอกาสในการลงทุน อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลและค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น 

ทั้งนี้ การควบรวมและซื้อกิจการในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมพลังงานและวัตถุดิบด้านเหมืองแร่ ส่วนการซื้อกิจการในยุโรปจะเน้นภาคอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีขั้นสูง โทรคมนาคม เครื่องจักร และภาคการเงินเป็นหลัก 

• อัตราว่างงานเดือน ก.ค.ของเกาหลีใต้ลดลงมาอยู่ที่ 3.1% ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนจาก 3.2% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอยู่ที่ระดับ 3.3% เนื่องจากจำนวนคนที่มีธุรกิจเป็นของตนเองและการจ้างงานในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าการส่งออกของเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปก็ตาม

• นายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า ของจีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา โดยทั้งการลงทุนและการบริโภคยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของจีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก จึงมั่นใจว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้ได้อย่างแน่นอน

• ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำข้อตกลงลดปริมาณการส่งออกยางลง 3 แสนตัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยไทยจะลดปริมาณการส่งออกลง 150,000 ตัน และจะมีการโค่นยางอายุมากเพื่อปลูกยางใหม่ทดแทน จำนวน 1 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้การผลิตยางลดลงได้ 150,000 ตัน 

• สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 (ก.ย.2555) หนี้ภาครัฐต่อจีดีพีจะไม่เกิน 43.5% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 44%-45% ในปีงบประมาณ 2556 จากการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าบาท และจะสูงสุดในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 54%-55% ของจีดีพี จากแผนการกู้เงินเพื่อลงทุนของรัฐบาลวงเงิน 2 ล้านล้านบาท 

Equity Market 


• SET Index ปิดที่ 1,224.40 จุด ลดลง 2.43 จุด หรือ 0.20% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 27,885 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 55 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในระดับนี้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยดัชนีตลาดปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค ซึ่งหุ้นที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งในกลุ่มพลังงานและธนาคาร แต่ตลาดยังได้แรงพยุงจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อย

Fixed Income Market


• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรุ่น โดยเฉพาะรุ่นอายุมากกว่า 1 ปีมีผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก อยู่ในกรอบระหว่าง +0.03% ถึง +0.11% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท.อายุ 14 วัน มูลค่า 42,000 ล้านบาท

Gold Corner


• สภาทองคำโลก (WGC) รายงานแนวโน้มอุปสงค์ทองคำไตรมาส 2/55 ว่า อุปสงค์ทองคำได้ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนไปอยู่ที่ 990 ตัน เป็นผลจากการซื้อภาคอัญมณี การลงทุน และเทคโนโลยี ที่ลดลง แม้ว่าจะมีแรงซื้อมากขึ้นจากภาคธนาคารกลาง 
Guru Corner

• Nouriel Rubini “แม้ว่าการแยกออกจากกันจะมีต้นทุนสูงมาก และต้องมีการประชุมหารือกันในระดับนานาชาติเพื่อตกลงกันเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศต่างๆ แต่การสลายกลุ่มยูโรโซนให้เร็วขึ้นจะทำให้มีคนรอดได้ 

ดังนั้น ความพยายามที่จะยื้อเวลาออกไปอีก 2-3 ปีโดยยอมทิ้งเงินลงไปอุ้มอีกหลายล้านล้านยูโรทั้งๆ ที่รู้ว่าในที่สุดก็ต้องแยกจากกันนั้น รังแต่จะทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้นไปอีก แต่เรื่องเลิกกลุ่มยูโรโซนเสียในวันนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ทางการเมือง 

ดังนั้น เวลาจึงจะพิสูจน์ได้ว่า การใช้นโยบายที่เหมือนเอาบ้านทั้งหลังไปพนันเพื่อเก็บโรงรถไว้นั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่”

• Marc Faber “มีหุ้นบางตัวในสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งดี เช่น Kimberly Clark (KMB), Johnson & Johnson (JNJ), Merck (MRK) และ Altria (MO) และทำราคา New High ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่โดนเทขายจนเกินเหตุ อย่างเช่นหุ้นเหมืองต่างๆ ที่มีราคาอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ”

• Peter Schiff “เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ได้ด้วยการกู้มาบริโภคและกู้มาสนับสนุนการใช้จ่ายอย่างมหาศาลของภาครัฐ 

ส่วนสาเหตุที่ลูกหนี้อย่างอเมริกาไม่พังลงมาในวันนี้ก็เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำจนติดดินเนื่องจากผู้ให้กู้ยังประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ไม่ถูกต้อง 

เพราะฉะนั้น The perfect storm ที่แท้จริงของสหรัฐฯ จึงเป็นการเผชิญหน้ากับ Fiscal Cliff และ Fiscal Cliff ที่แท้จริงของอเมริกาก็คือการที่ไม่มีใครให้สหรัฐฯ กู้เงินอีกแล้ว เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่เชื่อว่าอเมริกาจะจ่ายหนี้คืนได้ และเมื่อนั้นอัตราดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้อเมริกาต้องเลือกระหว่างการผิดนัดชำระหนี้ การล้มละลาย หรือเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากๆ 

นั่นจึงจะเป็น The Perfect Storm ที่แท้จริง 

แต่โชคร้ายที่อเมริกากำลังแล่นเรือไปในทิศทางที่มีพายุลูกใหญ่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดรออยู่"

1 ความคิดเห็น: