หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 7/1/56

General News
-------------------



• IMF ระบุว่า มาตรการรัดเข็มขัดในประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่ได้สร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2009-2010 อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรใช้ความระมัดระวังในการดำเนินมาตรการตัดลดงบรายจ่ายครั้งใหญ่

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในยูโรโซนของ Markit ซึ่งประเมินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทหลายพันแห่งในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ มี.ค.ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 47.2 จาก 46.5 ในเดือน พ.ย. แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ที่แบ่งแยกระหว่างการขยายตัวและการหดตัว

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ขั้นสุดท้ายของเยอรมนีซึ่งประเมินกิจกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ พุ่งสู่ระดับ 50.3 ในเดือน ธ.ค. จาก 49.2 ในเดือน พ.ย. โดยดีดตัวเหนือระดับ 50 ได้ จึงเพิ่มความหวังว่า เยอรมนีอาจเป็นประเทศที่หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้ นอกจากนี้ กิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. โดยอยู่ที่ 52.0 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยระยะยาวที่ 52.9

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคบริการขั้นสุดท้ายของฝรั่งเศสหดตัวลงเกินคาดในเดือน ธ.ค. โดยร่วงลงสู่ 45.2 จาก 45.8 ในเดือน พ.ย.จากผลกระทบของอุปสงค์ที่หดตัวลงมากกว่าคาด ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจย่ำแย่ลงในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

• ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 7.8%

• สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ 56.1 ในเดือน ธ.ค.สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีก่อน และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ย.ยังขยับขึ้น 211 ล้านดอลลาร์ สู่ 4.77 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ถึงแผนขยายการลงทุนของภาคโรงงาน

• สมาคมนายธนาคารสหรัฐ (ABA) รายงานยอดผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตไตรมาสที่ 3 ปีก่อนว่าลดลงสู่ 2.75% จากยอดบัญชีทั้งหมด ต่ำสุดในรอบ 18 ปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 15 ปีที่ 3.89%

• นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นจะเดินทางไปเกาหลีใต้ในเดือนหน้าเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ด้วย ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ชะงักงันมาจากการพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทาเคชิมะในทะเลญี่ปุ่น

• Bloomberg เปิดเผยรายงานกึ่งวิเคราะห์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้อาจไม่ยั่งยืนเนื่องจากจีนยังเสี่ยงเรื่องหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการปล่อยกู้ของผู้ให้บริการสินเชื่อและธนาคารนอกระบบ (เอกชนจีนเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารได้ยาก) ทั้งนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อของบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านหยวน (4 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงขึ้น 5 เท่าจากปี 2554

• ก.วางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) ตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 1.3-1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยในเดือนธ.ค.ก่อนมีการลงทุนจาก 98 ประเทศและดินแดน 14,489 โครงการ และจดทะเบียนทั้งหมด 2.136 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

• ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่น่าอยู่สำหรับกลุ่มผู้เกษียณอายุจากแถบอเมริกาเหนือ อันเนื่องมาจากค่าครองชีพที่ถูก สถานที่ที่น่าสนใจ และสไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้าน ขณะที่ เอกวาดอร์ติดอันดับ 1 เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจากมีค่าครองชีพต่ำ อากาศที่อบอุ่น และอสังหาริมทรัพย์ราคาถูก อนึ่ง มาเลเซียเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 5 อันดับแรก

Equity Market
------------------



• SET Index วันศุกร์ปิดตลาดที่ 1,416.66 จุด เพิ่มขึ้น 8.25 จุดหรือ +0.59% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 47,352 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,817 ล้านบาท ทั้งนี้ มีแรงซื้อนำหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคาร ขณะที่มีแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี อนึ่ง นักลงทุนได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงภาคบ่าย หลังจากที่ดัชนีปรับลงแล้วไม่หลุดต่ำกว่าระดับ 1,400 จุด

Fixed Income Market
---------------------------



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.01% ถึง 0.07% ตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

• นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 14 คนจากการสำรวจโดยรอยเตอร์ คาดการณ์ว่า กนง.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันที่ 2.75% ในการประชุมวันพุธที่ 9 ม.ค. ด้วยเหตุผลว่าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับสูง แต่อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

• นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้กดดันธนาคารกลางญี่ปุ่นอีกครั้ง ให้ใช้นโยบายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเขาหวังว่าจะมีการตั้งเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2%

• กระทรวงการคลังอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศ 8 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในไทย วงเงินรวม 5.9 หมื่นล้านบาท ภายในวันที่ 30 ก.ย. 56 ซึ่งประกอบด้วย Industrial Bank of Korea (IBK) / ING Bank NV. (ING) / The Export-Import Bank of Korea (KEXIM) / TheMinistry of Finance of the Lao People's Democratic Republic (Lao PDR) / Noble Group Limited (Noble) / Cooperative CentraleRaiffeisen-Boerenleenbank B.A.(Rabobank Nederland) / Shinhan Bank และ Woori Bank

Gold Corner
---------------



• ราคาทองคำปรับตัวลดลงไปปิดที่ $1,656.80/oz. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ FOMC หลายรายแสดงความกังวลมากขึ้นต่อนโยบาย QE และให้ความเห็นว่าควรจะหยุดใช้เม็ดเงินอัดฉีด (QE) ก่อนสิ้นปีนี้ด้วย ซึ่งเป็น Sentiment ที่ไม่ดีอย่างยิ่งต่อราคาทองคำในระยะสั้น นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการเจรจาปัญหา Fiscal Cliff ก็ทำให้ปัจจัยบวกของทองคำลดลงอีกเช่นกัน ดังนั้น การเก็งกำไรระยะสั้นในทองคำช่วงนี้จึงมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Oil Corner
--------------



• ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวไปอยู่ที่ $93.19/บาร์เรลในช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ อันน่าจะเป็นผลของการที่ FED ส่งสัญญาณความกังวลต่อการใช้นโยบาย QE ซึ่งการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้นนั้นน่าจะเป็นผลที่ดีต่อน้ำมันมากกว่าการลดเม็ดเงินอัดฉีด (เพราะตอนที่มีการประกาศใช้ QE ราคาน้ำมันก็ไม่ขึ้น) ราคาน้ำมันจึงขึ้นอยู่กับ Supply-Demand มากกว่า ซึ่งขณะนี้ OPEC คาดว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แนวโน้มราคาน้ำมันจึงน่าจะดีขึ้นเล็กน้อย

Guru Corner
---------------



• Robert D. Boroujerdi นักกลยุทธ์ของ Goldman Sachs ออกจดหมายเตือนลูกค้าให้ระวังการขาดทุนจากการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐเริ่มขยับขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้แล้ว โดยเฉพาะผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ขึ้นไปเกือบแตะระดับ 2% จากข่าวการประชุม FED ล่าสุดที่สมาชิกหลายรายเชื่อว่า QE น่าจะเลิกได้ในปีนี้ ซึ่งเขาระบุว่า ถ้าขึ้นไปถึงระดับเฉลี่ยในอดีตที่ 3% ราคาของพันธบัตรและตราสารหนี้จะดิ่งลงจนอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้ถึง 25%

(เมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ซื้อขายในตลาดจะร่วงลง ถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ซื้อขายกันในตลาดจะสูงขึ้น)

เขาจึงแนะนำให้ย้ายไปลงทุนหุ้นที่จะให้รายได้ประจำแก่ผู้ลงทุนได้ ซึ่ง
สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทหลายแห่งในสหรัฐมีเงินสดเหลือเฟือที่น่าจะจ่ายคืนเป็นเงินปันผล

อย่างไรก็ตาม Jan Hatzius นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ให้สัมภาษณ์แก่ CNBC ว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลละแนวโน้มทางเศรษฐกิจแล้ว เขาเชื่อว่า QE จะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2014

ทั้งนี้ นักกลยุทธ์ของ PIMCO ซี่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คิดเหมือนกับ Jan Hatzius โดยระบุว่า Real Interest Rate (อัตราดอกเบี้ยซึ่งหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ยังติดลบอยู่มากและอัตราว่างงานที่ยังสูงอยู่นั้นก็จำกัดความเสี่ยงของเงินเฟ้อไปแล้ว นอกจากนี้ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุมากขึ้นของสหรัฐ บวกกับประสบการณ์ด้านร้ายจากการลงทุนในหุ้นในทศวรรษที่ผ่านมาจะทำให้คนยังเลือกลงทุนในพันธบัตรมากกว่า

• Rich Bernstein หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของ Merrill Lynch กำลังมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากต่อตลาดหุ้นในสหรัฐ โดยเชื่อว่ากำลังอยู่ในจุดที่คล้ายกับเมื่อปี 1982 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิง (Bull Market) ในช่วง 1982-2000 แต่ Vitaliy Katsenelson จาก Contrarian Edge มองตรงกันข้าม โดยระบุว่าราคาหุ้นยังสูงกว่าที่ควรจะเป็นจริงไป 30%

• หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่า ประธานาธิบดีโอบามาควรแต่งตั้งให้ Paul Krugman เป็น รมต.คลังสหรัฐ ที่จะว่างลงภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ทดแทน Tim Geithner ที่ขอลาออก โดยให้เหตุผลสนับสนุนว่าKrugman จะเป็น รมต.คลังที่ต่อสู้กับ Wall Street ได้ และจะไม่สนใจในความกดดันที่จะให้ตัดลดงบประมาณลง และสิ่งที่ Krugman วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจก็ถูกต้องในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และสื่อต่างๆ มองผิดพลาดกันเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น

- การเขียนเตือนเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ก่อนที่ตลาดบ้านจะพังทลายลงและทำให้เกิด The Great Recession

- การคาดการณ์และอธิบายว่าการขาดดุลงบประมาณมหาศาลกับการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ (ออก QE) นับล้านล้านดอลลาร์จะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ คือไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวพุ่งขึ้น

- การเตือนว่ายังไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพราะจะเผชิญกับภาวะถดถอย ฯลฯ

และเหนือสิ่งอื่นใด Paul Krugman คือผู้ที่ยืนอยู่ข้างคนอเมริกันส่วนใหญ่ของประเทศโดยเขียนบทความจำนวนมากเกี่ยวกับนโยบายที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน ทั้งยังอธิบายข้อเสียของการตัดลดงบประมาณในช่วงที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ กับเป็นผู้ต่อต้านการตัดลดงบประมาณสวัสดิการสังคมอย่าง Social Security และ Medicare ลง

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีเหตุผลที่ดีเลยที่ รมต.คลังจะเป็นบุคคลที่ยอมให้ผลประโยชน์ต่อ Wall Street มาก่อนผลประโยชน์ของคนอเมริกันส่วนรวม ทั้งๆ ที่อาชญากรรมทางการเงินอันมีผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างก็มาจากคนพวกนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น