หน้าเว็บ

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 26/9/55

- G20 เห็นพ้องว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณของประเทศพัฒนาแล้วทำได้เพียงซื้อเวลาไม่ให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่านั้น และรัฐบาลในแต่ละประเทศยังจำเป็นต้องกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่านี้

- รมว.คลังกรีซ กล่าวว่า หากมาตรการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด กรีซควรเลือกใช้ช่องทางกู้เงินเพิ่มจาก ธ.กลางยุโรป (ECB) เพื่ออุดช่องว่างทางการเงินในปีต่อๆ ไป 

- ECB และ บุนเดสแบงก์ของเยอรมนี อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องตามกฏหมายของโครงการซื้อพันธบัตรใหม่ของ ECB ทั้งสัดส่วนและระยะเวลาว่าขัดต่อสนธิสัญญาของสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ที่จะไปให้เงินอุดหนุนการลดยอดขาดดุลของรัฐโดยตรง

- IMF เรียกร้องให้ยูโรโซนสร้างเอกภาพในภาคธนาคาร และเร่งดำเนินการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปตามแผนที่ได้ประกาศไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สหรัฐก็เป็นความเสี่ยงใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกันจากการที่ต้องควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า

- โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า ยูโรโซนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้ที่สมาชิกก่อไว้ในอดีต เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะทั้งหลาย และต้องสร้างเอกภาพของภาคสถาบันการเงินด้วยการใช้ระบบประกันเงินฝากเพื่อป้องกันการแย่งกันระดมเงินฝาก ไม่เช่นนั้นประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วจะยิ่งอ่อนแอลงไปอีก และทั้งระบบก็จะล่มสลาย

- อาร์เจนตินามีเวลา 3 ด.เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจาก IMF หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ไม่เป็นจริง โดยต้องปรับปรุงคุณภาพตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ในเดือน ก.ย.และทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยการปรับตัวขึ้นของราคาบ้านและตลาดหุ้นต่างช่วยหนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งผลให้ภาคครัวเรือนเพิ่มการใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่อัตราว่างงานที่ยังคงสูงกว่าระดับ 8% และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในวงจำกัดยังฉุดรั้งการขยายตัว

- ธ.กลางจีน ตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่อง 290 พันล้านหยวน (46 พันล้านดอลลาร์) เข้าสู่ภาคธนาคารผ่านการซื้อคืนตราสารหนี้อายุ 7 วัน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับแต่ปี 2004 เพื่อรองรับความต้องการเงินสดที่สูงขึ้นในช่วงวันหยุดยาว

- IMF คาดว่า มาตรการของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะเป็นความช่วยเหลือในระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องกระตุ้นการบริโภคและอุปสงค์ในประเทศ เพื่อแทนที่การขยายตัวของการส่งออกที่ชะลอลง

- จีนเริ่มขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการขอสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกพืชวัตถุดิบ เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ขณะที่ ลาว กัมพูชา รวมถึงบางประเทศได้เปิดรับการลงทุนของจีนด้วยการขยายอายุสัมปทานที่ดินจากเดิม 70 ปี เป็น 99 ปี ทำให้บริษัทสัญชาติจีนกว่า 100 แห่ง เข้ารับสัมปทานที่ดินแล้วกว่า 6 ล้านไร่

- จีน-ญี่ปุ่น เตรียมเจรจาคลี่คลายความตึงเครียดกรณีข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะเตียวหยู (เซ็นโกกุ) อีกครั้ง หลังทั้ง 2 ฝ่ายประสบความล้มเหลวจากการเจรจาวานนี้ โดยจีนชี้ว่าการซื้อหมู่เกาะเตียวหยูโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง

- ผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานวิจัยภาคเอกชนญี่ปุ่น 18 แห่ง คาดการณ์ว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) อาจลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส เนื่องจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปและจีน รวมถึงความต้องการรถยนต์ที่น้อยเกินคาด

- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้เดือน ก.ย.ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้คาดว่าเงินเฟ้อได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2010 ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากผู้ บริโภคคาดว่าเศรษฐกิจและความเป็นอยู่จะย่ำแย่ลง ขณะที่ IMF คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัว 3.0% ในปีนี้ ชะลอตัวลงจาก 3.6% ในปีที่แล้ว หลังภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้สกัดอุปสงค์สินค้าส่งออกของเกาหลีใต้

- ธ.กลางสิงคโปร์ (MAS)สั่งการให้ ธ.พาณิชย์ ทบทวนวิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่ไม่มีการส่งออก (NDF) เพื่อปกป้องความเป็นเอกภาพของระบบการเงิน และให้รายงานความผิดปกติใดๆ ในทันทีที่พบเห็น กับให้ดำเนินการด้านวินัยที่เหมาะสมต่อพนักงานที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกตินั้นๆ (เป็นการทบทวนเพิ่มเติมต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์สิงคโปร์ (Sibor) และอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์อื่นๆ)

- ก.พาณิชย์ของไทย ยังคงเป้าส่งออกในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 15% เนื่องจากคาดว่าจะมีคำ สั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น แม้ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปยังเป็นปัจจัยลบกดดันการส่ง ออกของไทยในปีนี้ โดยจะประชุมกำหนดยุทธศาสตร์ส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ซึ่งหากสามารถทำให้มูลค่าการส่งออกต่อเดือนในช่วงเหลือของปีในระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อาจทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีนี้โตได้อีก 4-5%

- ก.คลัง ปรับลดเป้า GDP ปีนี้ลงเหลือ 5.5% จากเดิม 5.7% เนื่องจากการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 4.5% อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังเติบโตสูงสุดนับจากปี 2547 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 5.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตเป็นประวัติการณ์ที่ 14.1%

ไทยจะเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจในเดือน ต.ค.2557 และจะเริ่มปรึกษากับผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศเพื่อขอความสนับสนุนสำหรับโครงการนี้ โดยจะยื่นข้อเสนอภายในสิ้นปีเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่จีน เกาหลีใต้ และเวียดนามต่างก็มีแผนที่จะเปิดโครงการตลาดคาร์บอนแบบภาคบังคับ

- SET Index ปิดที่ 1,287.41 จุด เพิ่มขึ้น 3.11 จุด หรือ 0.24% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34,856 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 814 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีแรงหนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และพาณิชย์ ส่งผลให้ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนบางส่วนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 

Fixed Income Market

- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วง -0.03% ถึง 0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 วัน และ 12.8 ปี มูลค่ารวม 71,000 ล้านบาท 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ไม่เห็นด้วยที่ ธปท. จะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเงินทุนไหลเข้า เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาขาดทุนให้งบดุลของ ธปท.และกระทบต่อความยืดหยุ่นของนโยบายการเงิน ทำให้การออกนโยบายมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่า แนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าและผันผวนมากขึ้นอย่างไม่มีข้อจำกัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจาก FED อาจอัดฉีดเม็ดเงินไปจนถึงกลางปี 2558 หรืออีกประมาณ 30 เดือนนับจากนี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น