หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 3/3/57

General News
----------------


• ก.พาณิชย์สหรัฐเปิดเผยประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP ไตรมาส 4/56 โดยคาดว่าขยายตัว 2.4% ลดลงจากประมาณการครั้งแรกที่เป็น 3.2% เพราะผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้าย และต่างประเทศมีความต้องการสินค้าของสหรัฐชะลอตัวลง

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก เดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นเป็น 59.8 จุด จาก 59.6 จุดในเดือน ม.ค.จากยอดการจ้างงานที่สูงขึ้น บ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐในปีนี้ โดยสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือ 56.4 จุด 

• รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงท้ายเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นเป็น 81.6 จุด จากเดือน ม.ค.ที่เป็น 81.2 จุด เพราะผู้บริโภคมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ และการใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้น หลังจากที่ต้องเผชิญกับอากาศหนาวในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

• ยอดการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือน ม.ค.ของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน ธ.ค.56 เป็นสัญญาณฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์หลังกระทบจากอากาศที่หนาวเย็นรุนแรงซึ่งทำให้ยอดทำสัญญาในเดือนธ.ค.หดตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 1.4% 

• ยูโรสแตท รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของกลุ่มยูโรโซนปรับตัวขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.และ ธ.ค. ซึ่งธนาคารกลางยุโรปพิจารณาว่าเป็นระดับอันตรายที่จะเกิดภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ ตัวเลขการว่างงานเดือน ม.ค.ยังทรงตัวที่ 12% มาตั้งแต่เดือนต.ค. 56 แม้ว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว

• ยอดค้าปลีกเยอรมนีเดือน ม.ค.สูงสุดในรอบ 7 ปี โดยเพิ่มขึ้น 2.5% จากเดือนก่อน และขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว บ่งชี้ว่ายอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ 

• การใช้จ่ายของผู้บริโภคฝรั่งเศสเดือน ม.ค.ลดลง 2.1% จากเดือนก่อน และลดลง 0.5% เมื่อเทียบรายปี เพราะยอดขายรถยนต์และการใช้พลังงานร่วงลงอย่างหนัก โดยยอดขายรถยนต์ลดลง 7.7% จากเดือนก่อนเพราะเริ่มเก็บค่าปรับรถที่ไม่ประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้นปี ขณะที่การใช้พลังงานเดือน ม.ค.ลดลง 6.3% จากเดือนที่แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน ม.ค.ในปีก่อนๆ

• ตัวเลขเริ่มสร้างบ้านของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 12.3% จากปีก่อน เป็น 77,843 ยูนิต เพิ่มขึ้น 17 เดือนติดต่อกัน เพราะผู้บริโภคเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดเริ่มสร้างบ้านใหม่เพื่ออยู่อาศัยเองเพิ่มขึ้น 5.9% ยอดสร้างบ้านให้เช่าพุ่งขึ้น 21.5% ยอดสร้างบ้านเพื่อขายโดยบริษัทพัฒนาอสังหฯ เพิ่มขึ้น 8.6% ส่วนตัวเลขเริ่มสร้างคอนโดมิเนียมพุ่งขึ้น 18.6% 

• ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่นเดือน ม.ค.เพิ่ม 1.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนแต่เท่าเดือนก่อนหน้า โดยราคาน้ำมันเตาได้พุ่งขึ้น 9.1% กับค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 8.5% เพราะเยนอ่อนลง

• สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.พ.ลดลงมาอยู่ที่ 50.2 จุดจาก 50.5 จุดในเดือน ม.ค. เนื่องจากมีวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน ส่วนดัชนีย่อยต่างๆ ล้วนแต่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีการผลิตลดลงเป็น 52.6 จุด ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็น 50.5 จุด แสดงถึงการขยายตัวที่ชะลอลง ทั้งนี้ ดัชนีคำสั่งซื้อ สินค้าส่งออก และดัชนีการนำเข้า ลดลงเหลือ 48.2 และ 46.5 จุด หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

• เกาหลีใต้แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในตลาดนำเข้าของจีนในปี 56 จากความต้องการเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกที่ผลิตโดยบริษัทเกาหลีใต้ โดยส่วนแบ่งตลาดของยอดนำเข้าของจีนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 9.24% ในปี 56 จาก 9.17% ในปี 55 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันลดลงเหลือ 8.19% จาก 9.78% ทั้งนี้ ยอดส่งออกไปจีนคิดเป็น 26.1% ของยอดส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้

• ธปท. รายงานว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ม.ค.หดตัวจากเดือนก่อนเพราะส่งออกชะลอตัวและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการเมืองมากขึ้น ส่วนด้านการบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

- ส่งออกหดตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยส่งออกยานยนต์ไปอาเซียนชะลอลง และส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเพราะจีนลดการนำเข้าหลังจากเร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

- นักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเพียง 0.1% จากปีก่อน จากที่เคยขยายได้ 6.7% ในเดือน ธ.ค.56

- ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.5% เพราะฐานสูงในปีก่อนและกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ

- การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 8.6% จากปีก่อน เพราะบางส่วนเลื่อนการลงทุนออกไป

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่า ในการประชุม กนง.วันที่ 12 มี.ค.นี้ คงต้องมีการทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 ไม่น่าจะอ่อนแอถึงขั้นติดลบ

• สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุม 12 มี.ค.57 เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ไม่กังวลเรื่องเงินทุนไหลออกในระยะสั้น โดยคาดว่า เศรษฐกิจอาจหดตัว 1.6% ในไตรมาสแรก กับหดตัว 0.3% ในไตรมาส 2 แต่เชื่อว่าถ้าตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายในไตรมาส 3 จะกลับมาเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังและช่วยให้ทั้งปีเติบโตได้ 2.4%

• ก.พาณิชย์ลงนามขายข้าวให้รัฐบาลจีน 4 แสนตันใน มี.ค.นี้ และรัฐบาลคาดว่าจะทยอยได้รับเงินจากการระบายข้าวเดือนละ 8,000 ล้านบาท รวมเป็น 24,000 ล้านบาท ในไตรมาส 1/57 เมื่อรวมกับเงินกู้ยืมงบกลางอีก 20,000 ล้านบาท ก็คาดว่าจะมีเงินที่จ่ายให้กับชาวนาได้ในเดือน มี.ค.นี้ เกือบ 50,000 ล้านบาท

• แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งให้มณฑลทหารบกเชียงใหม่และพะเยาแจ้งความเอาผิดเสื้อแดงในข้อหากบฏ ตามกฎหมายอาญามาตรา 113 และ 114 เพราะเคลื่อนไหวให้แบ่งแยกประเทศเป็น สปป.ลานนา 

Equity Market
----------------


• SET Index ปิดที่ 1,325.33 จุด เพิ่มขึ้น 7.28 จุด (+0.55%) ด้วยมูลค่าซื้อขาย 30,890 ล้านบาท แต่ยังขึ้นน้อยกว่าตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1% โดยดัชนีทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวันตั้งแต่ช่วงเช้า และหุ้นที่ปรับตัวขึ้นนำตลาดเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศมากนัก 

จึงเป็นไปได้ว่าการปรับตัวขึ้นอาจเป็นแรงซื้อในกลุ่ม TIP market โดยรวม มากกว่าจะคลายกังวลกับเรื่องภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเมืองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่ม็อบ กปปส.ได้เลิกการชุมนุมที่เวทีปทุมวันและแยกอโศก โดยไปรวมกันที่เวทีลุมพินีเพียงจุดเดียว

(ล้านบาท)

นักลงทุนสถาบัน +1,452.67
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -567.20
นักลงทุนต่างชาติ +825.19
นักลงทุนทั่วไป -1,710.67

Fixed Income Market
------------------------


• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกรุ่นลดลง -0.02% ถึง 0.00% โดยซื้อขาย 73,770 ล้านบาท สำหรับวันนี้จะมีการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 และ 3 เดือน ค่ารวม 28,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น