หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 4/3/57

General News

• การใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะอากาศหนาวอย่างรุนแรงเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนเดือนก.พ. ลดลงสู่ระดับ 53.2 จาก 54 ในเดือนม.ค. บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตในประเทศสมาชิกรายใหญ่ เช่น อิตาลี เยอรมนี และสเปน

• ยอดขาดดุลงบประมาณปี 2556 ของอิตาลีทรงตัวที่ระดับ 3% ขอลจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 4.73 หมื่นล้านยูโร ซึ่งยังคงอยู่ในรอบสูงสุดตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป(อียู) โดยสามารถควบคุมยอดขาดดุลงบประมาณได้ จากการที่ชาวอิตาลีลดการบริโภคลง 2.6% และรัฐบาลลดการลงทุนในภาครัฐลง 13%

• สนง.สถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ในเดือนม.ค. มียอดขาดดุลการค้า 430.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเกินดุลติดต่อกัน 3 เดือน เนื่องจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้นและการห้ามส่งออกแร่ธาตุมีผลบังคับใช้

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีนเดือนก.พ. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 39.9 โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนีการผลิตเหล็กปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันสู่ระดับ 35.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงและนโยบายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นส่งผลให้การผลิตเหล็กกล้าเริ่มลดลง

• นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ก.พาณิชย์คงเป้าอัตราเงินเฟ้อปี 2557 อยู่ที่ 2-2.8% เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกเฉลี่ยในประเทศมีราคาไม่สูงขึ้นมากนัก รวมไปถึงการที่รัฐบาลยังคงมาตรการผ่อนคลายภาระค่าครองชีพ ได้แก่ มาตรการรถเมล์ฟรีและมาตรการค่าเล่าเรียนฟรี ประกอบกับการที่รัฐบาลยังคงมีมาตรการอุดหนุนลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อเนื่อง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ได้มีการอุดหนุนน้ำมันดีเซลต่อ อาจจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณ 0.5-1%

• ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของประเทศไทย เดือน ก.พ.57 อยู่ที่ 106.71 เพิ่มขึ้น 1.96% จากเดือน ก.พ.56 และเพิ่มขึ้น 0.23% จาก ม.ค. 57 เนื่องจากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ปี 57 เพิ่มขึ้น 1.95% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) อยู่ที่ 104.14 เพิ่มขึ้น 1.22% จากเดือน ก.พ. 56 และเพิ่มขึ้น 0.27% จาก ม.ค. 57 จากราคาสินค้าหมวดเครื่องประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกปี 57 เพิ่มขึ้น 1.13%

• ธปท. มีความกังวลว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2014 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ระดับ 2.9% หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายใน Q3/2014 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อตั้งแต่เดือนพ.ย. 2013

• ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2014มีศักยภาพขยายตัวได้ประมาณ 2.4% ถึงแม้การส่งออกมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ดีราว 5% แต่ปัจจัยสนับสนุนอื่นยังมีทิศทางที่น่ากังวล เช่น การท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าระดับ 10% ในปีนี้ และการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ยังเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก เช่น การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ 

• นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสที่จะไหลกลับเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง หากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงไม่มีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน จากภาคธุรกิจที่ชะลอแผนการลงทุนขนาดใหญ่ลง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวยังดีอยู่ เช่นรายได้ของภาคเกษตรกรรม ยกเว้นในส่วนของข้าว และยางพารา

• นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดการณ์ว่า ในปีนี้อัตราการเติบของธุรกิจค้าปลีกจะอยู่ในอัตรา 6-7% ซึ่งภายหลังจากที่กลุ่ม กกปส. ได้คืนพื้นที่การชุมนุมในหลายแห่ง เชื่อว่าจะส่งผลดีในด้านการสร้างความสะดวกในการเดินทาง และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

• นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปิดกรุงเทพฯจนถึงวันนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวให้เสียหายไปแล้วกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกหายไปกว่า 1.7 ล้านคน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยว ส่วนเป้าหมายนักท่องที่ยวในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 28-29 ล้านคน 

Equity Market


• SET Index ปิดที่ 1,339.21 จุด เพิ่มขึ้น 13.88 จุด (+1.05%) ด้วยมูลค่าซื้อขาย 40,342.54 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน ตอบรับปัจจัยการเมือง ที่กลุ่มกปปส.ได้คืนพื้นที่ โดยยุบเวที 4 แห่งมาอยู่ที่เวทีลุมพินีเพียงแห่งเดียว ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัวปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคปิดตลาดในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นตลาดจีนที่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลข PMI ที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์

• นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประเมินว่า EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยคงจะปรับลดลงจากเป้าหมายเหลือเพียง 6-7% จากเดิมที่คาดว่าจะโตที่ 10-15% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนต่างๆของภาคเอกชน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมีการขายออกจากตลาดหุ้นไทยไปกว่าแสนล้านบาท ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตจะมีการทบทวนเรทติ้งของประเทศไทยในเร็ววันนี้

สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม (ล้านบาท)

นักลงทุนสถาบัน 3,401.25
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -624.06
นักลงทุนต่างชาติ 1,147.34
นักลงทุนทั่วไป -3,924.53

Fixed Income Market


• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกรุ่นลดลง -0.03% ถึง 0.00% โดยซื้อขาย 98,881 ล้านบาท สำหรับวันนี้จะมีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี วงเงินรวม 86,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น