หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เดลินิวส์ 23/11/55

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เผยเงินค่าโฆษณาสะพัดขายของผ่านสื่อออนไลน์พุ่ง
น.ส.อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจเอเจนซี่ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโฆษณาในไทยปีนี้มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท และมาจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 3% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เติบโต 20% จากปีก่อน ส่วนการใช้งบทำกิจกรรมตลาดผ่านสื่อออนไลน์ของผู้ประกอบการ คิดเป็นสัดส่วน 5-10% ของงบการตลาดทั้งหมด ถือว่ามีสัดส่วนการใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีสัดส่วน 1%

อีลิทโฉมใหม่เปิดตรุษจีน
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) เปิดเผยว่า คาดว่าจะเปิดตัวบัตรอีลิทการ์ดโฉมใหม่ ที่ประกอบด้วยแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ใหม่ ก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 56 โดยก่อนเปิดตัวบัตร จะเรียกตัวแทนการขายประจำสำนักงานต่างประเทศของ ททท. ทั้ง 27 แห่ง และตัวแทนการขายประจำประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีสำนักงานอีก 14 แห่ง มารับฟังรายละเอียดการขายบัตรในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลให้ตัวแทนการขายไปใช้ เบื้องต้นแม้ยังไม่เปิดตัวบัตรอีลิทการ์ดใหม่เป็นทางการ แต่พบว่า มีสมาชิกเก่าที่ทราบข่าวว่ารัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ เริ่มสอบถามรายละเอียดของบัตรใหม่เข้ามาแล้ว เนื่องจากมีเครือข่ายสนใจสมัครสมาชิก

'โต้ง'ชูตลาดหุ้นไทย9เดือนกำไรเกิน26%
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตลาดทุนไทย ภายใต้โลกการเงินเสรี ในงานมหกรรมการลงทุนครบวงจรแห่งปี เซ็ท อิน เดอะ ซิตี้ ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยปีละ 22% แม้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อช่วงปลายปี 54 ส่วนในช่วง 9 เดือนของปีนี้ ตลท.ได้ให้อัตราผลตอบแทนมากกว่า 26% สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีความมั่นคง ราคาหุ้นมีความผันผวนน้อยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา เห็นได้จากการจ่ายผลตอบแทนแก่นักลงทุนเกินระดับ 100,000 ล้านบาทต่อเนื่องมานาน 2 ปี ดังนั้น ตลท.จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุน

สคบ.ถกค้าภายในล้อมคอกธุรกิจเอาเปรียบประชาชน
นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า สคบ.เตรียมหารือร่วมกับ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ต้องมีราคาที่เป็นธรรม เพราะก่อนหน้านี้ สคบ.ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้า และบริการ ที่คิดราคาเกินความจริง โดยเฉพาะการให้บริการสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่คิดอัตราค่ารักษาพยาบาลสูง และไม่มีราคาที่กำหนดเป็นมาตรฐาน ซึ่งอาจเข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคได้

ลอยกระทงทะลุหมื่นล้านเงินสะพัดสูงสุดรอบ7ปีจับตาม็อบทำงานกร่อย
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงปี 55 ว่า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในปีนี้คาดว่าจะคึกคักมากที่สุดในรอบ 7 ปี โดยมีเงินสะพัดมากถึง 10,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% จากปีที่แล้ว โดยสาเหตุเนื่องจากปีนี้คนไทยวางแผนท่องเที่ยวงานลอยกระทงเพิ่มขึ้น หลังจากปีก่อนไม่ได้ลอยกระทงเพราะประสบปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งปีนี้ราคาสินค้ายังแพงขึ้นทำให้ต้องมีการใช้จ่ายเพิ่ม

อุ๋ยจี้ภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่นแฉข้อมูลจำนำ-ประมูลข้าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษเรื่องคอร์รัปชั่น : จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมไทย ในงานสัมมนาหอการค้าไทย 80 ปีว่า ต้องการให้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นทำการเผยแพร่ข้อมูลปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างจริงจังและรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่รับทราบถึงข้อมูลการประมูลขายข้าวรัฐบาลว่ามีปริมาณขายจริงหรือขายไปที่ใดบ้าง เพราะนโยบายประชานิยมรับจำนำข้าวจากการตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารจัดการพบว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้เกิดการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 53.3% หรือ 8.6 ล้านล้านบาท ในขณะนี้ เป็น 63.37% หรือ 10.2 ล้านล้านบาท ในปี 62

ธุรกิจบริการกระทบขึ้นค่าแรงค้าปลีกโยนภาระให้ผู้บริโภค
นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เกี่ยวกับผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันพบว่า ต้นทุนผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อมปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% โดยภาคบริการ เช่น ก่อสร้าง โรงแรม ค้าปลีกและค้าส่ง ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานสูงไม่สามารถนำเครื่องจักรมาทดแทนได้เหมือนกับธุรกิจอื่น รองลงมาเป็นภาคการผลิตและภาคการเกษตร ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อภาคธุรกิจคือการปรับขึ้นสินค้าตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน เช่น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ และชิ้นส่วน โดยผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนได้เฉลี่ย 17% ซึ่งธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะผลักภาระต้นทุนมากสุดถึง 22% เพราะมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ซื้อ รองลงมาคือ ภาคบริการ 14% และภาคเกษตร 11%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น