หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 20/2/56

General News
------------------



• ธ.พาณิชย์ในเยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ลดปริมาณการใช้เงินกู้ฉุกเฉินจาก ECB ลง บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ที่ทำให้ธ.พาณิชย์เหล่านี้กลับเข้ามากู้เงินจากตลาดการเงินได้อีกครั้ง หลังจากเกิดภาวะสินเชื่อหดตัวในปี 2012

อย่างไรก็ตาม ธ.พาณิชย์ในประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจอ่อนแอยังคงต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) อยู่ ทำให้เกิดความยากลำบากให้แก่ ECB ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศในยูโรโซน

• บุนเดสแบงก์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้โดย กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง ECB ยังคงเชื่อว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่า 2% ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และจะยังคงอยู่ที่ระดับอันสอดคล้องกับเสถียรภาพด้านราคาเนื่องจากแผนการซื้อพันธบัตรของ ECB จะช่วยหนุนราคา

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเยอรมนีเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ที่ 48.2 จุด เพราะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะฟื้นตัวในปีนี้

• ECB เชื่อว่าจะไม่มีสงครามค่าเงินเกิดขึ้น โดยจะพยายามลดความขัดแย้งดังกล่าวลง อย่างไรก็ตาม ECB ยังต้องคอยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความแข็งแกร่งของยูโร เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยูโรมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ และยูโรอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อดิ่งลงสู่ระดับที่ต่ำเกินไป

ทั้งนี้ ECB เชื่อว่าการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ เป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ กระทบต่อผลตอบแทนของผู้ออมเงินและนักลงทุน อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย และอาจทำให้ธนาคารขาดความระวังจนปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ไม่มีกำไรมากเกินไป

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 5 ปี ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังคาดการณ์ว่า BOJ (ธนาคารกลางญี่ปุ่น) จะขยายอายุของพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้าซื้อ จากอายุไม่เกิน 3 ปี ออกไปเป็น 5 ปี เพื่อช่วยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ลดต่ำลง ขณะที่ รมว.คลังญี่ปุ่นระบุว่ายังไม่มีแผนเข้าซื้อพันธบัตรในสกุลเงินต่างชาติ

บ่งชี้ว่าญี่ปุ่นอาจไม่ใช้มาตรการยุติภาวะเงินฝืดบางมาตรการที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง

• EU เตรียมเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่ไปทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. โดยมาตรการเพิ่มเติมจะรวมถึง การห้ามทำธุรกรรมทางการเงินกับเกาหลีเหนือในแทบทุกกรณี ห้ามค้าทองคำ โลหะมีค่า และเพชร รวมทั้งห้ามส่งออกวัสดุอุปกรณ์สำคัญที่อาจใช้ในการผลิตขีปนาวุธไปยังเกาหลีเหนืออีกด้วย

• หลังจากทบทวนสถานะดุลเงินสดและความจำเป็นทางการเงินแล้ว อินเดียตกลงจะยกเลิกแผนจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล 120 พันล้านรูปีเพื่อลดการก่อหนี้สาธารณะและรักษาวินัยการคลัง

• กสท. อาจเลื่อนประมูลทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจจากเดิมที่กำหนดเป็น ก.ค.-ส.ค. หลังจากที่ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แล้ว ซึ่งต่อจากนี้จะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไปตามลำดับ

• ครม. เห็นชอบขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปอีก 1 เดือนไปจนถึงสิ้น มี.ค.ปีนี้ จากเดิมที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือน ก.พ. เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9 พันล้านบาท/เดือน

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจชะลอการเติบโตลงมาอยู่ที่ 4.8% จากที่ขยายตัว 6.4% ในปี 2555 เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกน่าจะช้ากว่าประมาณการเดิมจากผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาท โดยประเมินว่า การแข็งค่าร้อยละ 1.0 ของค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยอาจมีผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ร้อยละ 0.1-0.3

Equity Market
-----------------



• SET Index ปิดตลาดที่ 1,532.07 จุด เพิ่มขึ้น 8.78 จุด หรือ 0.58% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 50,296.43 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 98.58 ล้านบาท

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันนี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอการขายสุทธิ แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามคือผลการประชุม กนง. ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 2.75 %

• IEA ชี้ว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเตรียมประกาศตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันของโลกในแร็วๆ นี้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับปริมาณความต้องการใช้และการผลิตน้ำมันในสหรัฐ

Fixed Income Market
--------------------------



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงระหว่าง -0.02% ถึง +0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล อายุ 30.7 ปี วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท

• ธปท. เชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ทำให้ ธ.พาณิชย์ลดดอกเบี้ยตามทันที เนื่องจากความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่สูง สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในระดับ 14% และ 15% ขณะที่ GDP ปีก่อนก็โตสูงถึง 6.4%

ดังนั้น ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการส่งผ่านทิศทางดอกเบี้ยไปยัง ธ.พาณิชย์

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 2.75% ยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย และดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ยังติดลบอยู่

• CIMB มองว่า ค่าเงินบาทในครึ่งแรกปีนี้จะยังแข็งค่าและผันผวนในกรอบการเคลื่อนไหว 29.50-30.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนที่สูง โดยในเดือน ม.ค.มีเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท และลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี บาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังปีนี้จากมาตรการรัฐบาล เช่น รัฐบาลกู้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือหารือร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น