หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 4/2/56

General News
-------------------



• สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนเดือน ธ.ค. 2555 ทรงตัวอยู่ที่ 11.7% โดยจำนวนผู้ที่ไม่มีงานทำอยู่ที่ 18.7 ล้านราย และมีอัตราว่างงานของเยาวชน 24%

• วูล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลังเยอรมนี กล่าวเตือนว่า ไม่ควรนิ่งนอนใจกับการปรับตัวดีขึ้นในยูโรโซนเพราะวิกฤตหนี้ในภูมิภาคยังไม่สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ยูโรโซนก็กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปีก่อน

• สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะ 51.3 ในเดือน ม.ค. จาก 50.2 ในเดือน ธ.ค.2555 โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อล็อตใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณชี้วัดเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

• มหาวิทยาลัยมิชิแกน เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐช่วงท้ายเดือน ม.ค. เพิ่ม ขึ้นแตะ 73.8 จากระดับเบื้องต้นที่ 71.3 โดยได้ผลคาดการณ์เงินเฟ้อ 1 ปีว่าอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.4% ในช่วงต้นเดือน ม.ค.

• ก.พาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายภาคก่อสร้างเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 0.9% สู่ 8.84 แสนล้านดอลลาร์ จากเดือน พ.ย. โดยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.2% แตะ 3.08 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากมีการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแซนดี้

• ออโต้ดาต้าคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านยานยนต์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในตลาดรถยนต์สหรัฐในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 26.6% ที่ 157,725 คัน ขณะที่ยอดขายโดยรวมปรับขึ้น 14.2% แตะ 1,043,103 คัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่ปี 2551

• ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น ไม่ได้ให้ความสนใจกับเสียงวิจารณ์ที่ว่าญี่ปุ่นกำลังปั่นอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อที่จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง โดยระบุว่า เป้าหมายคือดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืด ดังนั้น ราคาหุ้นที่สูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลงจึงเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา

• สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) นอกภาคการผลิตเดือน ม.ค.อยู่ที่ 56.2 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน ธ.ค. 2555 นับเป็นสถิติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนที่กำลังใกล้เข้ามาทำให้ยอดค้าปลีกขยายตัวขึ้น

• ก.พาณิชย์ไทย ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ว่าจะอยู่ในกรอบ 2.8%-3.4% โดยเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศจะมีผลเพียง 0.1% จึงถือว่าไม่มีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ภายใต้สมมติฐานว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 2.8%-3.4% ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วง 100-120 เหรียญ/บาร์เรล และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

• กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น 5.38% โดยเฉลี่ย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่ม

• นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้เกิดจากปริมาณที่ออกสู่ตลาดลดลง 10% จากความเสียหายของโรค PRRS และ PED ในช่วง ตค.-ธค. ปีก่อน ซึ่งสวนทางกับปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นกว่า 15% เนื่องจากใกล้เทศกาลตรุษจีน

• เอแบคโพลล์ เปิดเผยว่า ความนิยมของคนกรุงเทพฯ ต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจิรญ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญทางสถิติ คือจาก 32.1% ก่อนวันรับสมัครมาอยู่ที่ 41.8% ในโค้งที่ 1 และ 43.1% ในโค้งที่ 2 ในขณะที่ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีแนวโน้มลดลงจาก 37.6% ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ 33.1% ในโค้งที่ 2

ส่งผลทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ออกไปอีก จากเดิม 4.2 จุด เป็น 10 จุด ในการสำรวจครั้งนี้

Equity Market
------------------



• SET Index ปิดตลาดที่ 1,499.22 จุด เพิ่มขึ้น 25.02 จุด หรือ +1.70% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 58,523.99 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 967.77 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นแรงกว่าภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่รีบาวน์เล็กน้อย หลังจากตลาดหุ้นไทยปรับลงแรงในวันก่อนหน้า

Fixed Income Market
---------------------------



• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง -0.03% ถึง +0.01% โดยพันธบัตรที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

Guru Corner
----------------



• Bill Gross
--------------


“วาณิชธนกิจนำตลาดมาสู่วงจร Ponzi Finance (คือวงแชร์ลูกโซ่ที่ต้องมีเงินใหม่เข้ามาเพื่อจ่ายผลตอบแทนสูงๆ ให้ผู้ลงทุน หากไม่มีเงินใหม่เข้ามา วงแชร์ลูกโซ่จะล้ม) และมันกำลังจะถึงจุดจบ

วงจรเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในช่วง Ponzi Finance ที่ต้องก่อหนี้เพิ่มเพียงเพื่อให้ได้เงินมาจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดเงินเฟ้อในท้ายที่สุด โดยการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะให้ผลตอบแทนที่ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบมาในรูปแบบการเก็งกำไร

จุดสิ้นสุดของวงจรนี้จะเริ่มเห็นเมื่อการลงทุนในสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนในระดับต่ำเทียบกับความเสี่ยงที่สูงมาก โดยสัญญาณเตือนให้ระวัง ได้แก่

1. ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากระยะเวลาการลงทุนในตราสารนั้น (Duration Risk)

2. ส่วนชดเชยความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร (Credit Spread) ต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร

3. PE ratios สูงมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการเติบโตของบริษัท”

• Warren Buffett
--------------------



“เงินไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด สิ่งที่ผมกังวลจริงๆ คือเรื่องนิวเคลียร์ การโจมตีโดยอาวุธชีวภาพ หรืออาวุธทางเคมี สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ จะ10 ปี หรือ 10 นาที หรืออีก 50 ปีข้างหน้า เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้ที่ประสงค์ร้ายต่ออเมริกาสามารถสร้างอาวุธที่น่ากลัวขึ้นมาได้”

• Marc Faber
-----------------



“ผมชอบตลาดแบบนี้ เพราะยิ่งดัชนีขึ้นไปสูงเท่าไร เวลามันพังลงมาก็จะลงหนักมากเท่านั้น

ในปีก่อนที่ยุโรปยังอยู่ในภาวะเลวร้ายก็ไม่มีใครคาดว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แล้วตลาดหุ้นโปรตุเกส สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ก็ให้ผลตอบแทนประมาณ 30%-40% ในเวลาไม่ถึงปี ในขณะที่ตลาดหุ้นกรีซให้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัว

และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผมชอบตลาดหุ้นสหรัฐมากนับแต่ที่มันตกต่ำในเดือน มี.ค. 2009 เพราะการขึ้นสูงของมันในขณะนี้ เวลามันพัง จะพังแรงมาก และคุณจะอยู่ในช่วงอันตรายหากคุณไม่มีการลงทุนในทองคำ”

(ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า Marc Faber ได้แนะนำให้ Maria Bartiromo ของ CNBC ลงทุนในทองคำ)

• Art Cashin
----------------



“การประกาศ GDP ในไตรมาส 4 เป็นการเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ซึ่งมีความแม่นยำมากนับแต่ปี 1948 โดย GDP ไตรมาส 4 หดตัว 0.1% ผิดจากที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลง และภาคเอกชนปรับลดสินค้าคงคลัง และจาก GDP ไตรมาส 4 ทำให้คาดว่า GDP ทั้งปี 2012 จะขยายตัวแค่ 1.5% (ต่างจากที่ FED ประเมินไว้ที่ 4%)

ทั้งนี้ ข้อมูลของ Rich Yamarone ที่ว่า ตั้งแต่ปี 1948 ไม่มีปีใดเลยที่อัตราเร่งของการเติบโต GPD ที่แท้จริงจะอยู่ในระดับต่ำแล้วเศรษฐกิจไม่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการเปลี่ยนแปลงที่ -2.0% จะเป็นสัญญาณเตือน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น