หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 14/6/56

eneral News


• ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.2% ในปีนี้ ลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่าจะขยายตัว 2.4% เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีนและบราซิล ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจยุโรปล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั่วโลกในครั้งนี้ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (ที่ไม่ใช่กลุ่มยูโรโซน) มีความเสี่ยงลดน้อยลงและมีอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่าในปี 56 นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะขยายตัวประมาณ 5.1% และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจะขยายตัวเพียง 1.2%

• นายไซมอน เวลส์ นักเศรษฐศาสตร์จากเอชเอสบีซีคาดว่า นายมาร์ค คาร์นีย์ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่ อาจจะมีการใช้นโยบายใหม่ในเดือนส.ค.นี้เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย ถึงแม้ว่าตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของอังกฤษหลายตัวจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่อุปสงค์สินค้านั้นยังคงอ่อนแออยู่ เนื่องจากการขยายตัวของค่าจ้างยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า อีกทั้งเศรษฐกิจโลกนั้นไม่ได้มีความแข็งแกร่งดังเช่นเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งทางเอสเอชบีซีได้คงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจอังกฤษปี 56 ไว้ที่ 0.8%

• ก.พาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัว 0.1% ในเดือนเม.ย. และดีกว่าที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐานที่ไม่นับรวมยอดซื้อสินค้ากลุ่มยานยนต์ น้ำมันเบนซิน และวัสดุก่อสร้าง ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เร่งตัวขึ้นจากเดือนเม.ย.เช่นกัน สะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

• ก.แรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 334,000 ราย ลดลง 12,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 345,000 ราย แสดงถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐ

• สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มการประเมินพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมิ.ย. เนื่องจากเงินสกุลเยนที่อ่อนค่าได้ช่วยให้การส่งออกของญี่ปุ่นดีขึ้น โดยได้ปรับการประเมินเพิ่มขึ้นในด้านการส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลกำไรภาคเอกชนและการจ้างงาน ทั้งนี้ ในรายงานของเดือนมิ.ย.ได้ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลัง ‘กระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง’ ในขณะที่รายงานเมื่อเดือนพ.ค.ระบุว่า เศรษฐกิจกำลัง ‘กระเตื้องขึ้นอย่างเชื่องช้า’

• สถาบันหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีของจีนในปี 56 หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเดือนพ.ค.ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด โดย ANZ Bank ได้ปรับลดการเติบโตของจีดีพีจีนอยู่ที่ 7.6% ในปีนี้ และ 7.8% ในปีหน้า ลดลงจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ที่ 7.8% ในปี 56 และ 8% ในปี 57 ทางด้านบาร์เคลย์ส ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้มาอยู่ที่ 7.4% จากเดิม 7.9% โดยคาดว่าจีดีพีจีนจะขยายตัวชะลอลงเหลือ 7.5% ในช่วงไตรมาส 2 จาก 7.7% ในไตรมาสแรก

• ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ในการประชุมวานนี้ หลังจากปรับลดลงอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก

• สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มความน่าเชื่อถืออินเดียจาก "เชิงลบ" มาเป็น "มีเสถียรภาพ" เนื่องจากการที่รัฐบาลอินเดียได้ใช้นโยบายเพื่อควบคุมการขาดดุลทางการคลังและฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ และฟิทช์ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินต่างประเทศและในประเทศระยะยาวที่ BBB- ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดสำหรับพันธบัตรเกรดลงทุน การปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือในครั้งนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

• ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เนื่องจากเป็นภาวะผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว โดยเงินบาทนั้นได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคหลังเงินดอลลาร์กลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทไม่ได้มีสัดส่วนสูงกว่าเงินสกุลอื่น

Equity Market


• SET Index ปิดที่ 1,403.27 จุด ลดลง 30.20 จุด หรือ -2.11% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 85,402 ล้านบาท โดยตลาดมีความผันผวนมากในระหว่างวัน หลังจากที่ดัชนีปรับลดลง 80 จุดในช่วงเช้า แต่สามารถรีบาวด์ขึ้นมาปิดลดลง 30 จุดในช่วงบ่าย ด้วยปริมาณซื้อขายระดับสูงและนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิเป็นวันแรกในรอบหลายวัน โดยการรีบาวด์นั้นมีขึ้นในหุ้นเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ที่ราคาหุ้นสามารถกลับมาปิดบวกได้เมื่อเทียบกับวันก่อน

สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มนักลงทุน ล้านบาท
นักลงทุนสถาบัน -211.54
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -1,920.01
นักลงทุนต่างชาติ 1,394.49
นักลงทุนทั่วไป 737.06

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงมากในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะรุ่นที่อายุคงเหลือมากกว่า 6 ปีขึ้นไป มีอัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงลดลงตั้งแต่ -0.05% ถึง -0.12% ส่วนรุ่นอายุต่ำกว่า 6 ปีมีอัตราตอบแทนลดลงเล็กน้อย วันนี้มีการประมูลพันธบัตรธปท. อายุ 14 วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น