หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข่าวเช้าจากบัวหลวง 7/6/56

General News
----------------


• สหภาพยุโรป อนุญาตให้สาธารณรัฐลัตเวีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว โดยจะเป็นสมาชิกลำดับที่ 18 อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมปีหน้า อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ชาวลัตเวียร้อยละ 62 ไม่เห็นด้วย

• ส.สถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส รายงานว่า อัตราว่างงานของฝรั่งเศสในไตรมาสแรกพุ่งขึ้นแตะ 10.8% ซึ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี เมื่อเทียบกับ 10.5% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของก่อน แสดงว่าฝรั่งเศสยังคงเผชิญกับปัญหาว่างงานรุนแรง แม้ว่าประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ จะให้คำมั่นว่าจะลดอัตราว่างงานให้ได้ภายในปีนี้ก็ตาม

• ฮาลิแฟกซ์ เปิดเผยว่า ราคาบ้านในอังกฤษในเดือน พ.ค. ขยับขึ้น 0.4% จากเดือน เม.ย. และสูงขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายปีนับแต่เดือน ก.ย. 2553 เป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมในตลาดที่อยู่อาศัย

• ก.พาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานปรับตัวขึ้น 1% ในเดือน เม.ย. หลังจากที่ลดลง 4.7% ในเดือน มี.ค. (นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5%) เป็นผลจากยอดสั่งซื้อสินค้าไม่คงทน อาทิ อาหาร ผลิตภัณฑ์กระดาษ ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ถ่านหิน ร่วงลง 1% ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพงและมีอายุใช้งานอย่างน้อย 3 ปี เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และเครื่องจักร เพิ่มขึ้น 3.5%

• ธ.กลางสหรัฐ (FED) เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวในอัตราเล็กน้อยถึงปานกลาง ระหว่างเดือน เม.ย.- พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคที่อยู่อาศัยกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นปานกลางในหลายเขต และการท่องเที่ยวใน 7 เขตได้ส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งขึ้น

• ดัชนีการสร้างงานในสหรัฐตามข้อมูลของ แกลลัพ ในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 22 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 2551 และาเป็นการพุ่งขึ้นอย่างมากจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย. 2552 ซึ่งมีภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั้งนี้ สัดส่วนของ การจ้างงานอยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2551 และสัดส่วนของการปลดพนักงานอยู่ในระดับที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2551

• ก.แรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ ณ 1 มิ.ย. ลดลง 11,000 ราย สู่ 346,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 345,000 ราย สะท้อนว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงมีความหวังที่จะฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ กลับเพิ่มขึ้น 4,500 ราย สู่ 352,500 ราย

• สมาคมผู้นำเข้ารถยนต์ของญี่ปุ่น รายงานว่า ยอดขายรถใหม่นำเข้าญี่ปุ่นในเดือน พ.ค.ซึ่งรวมถึงรถยนต์ของญี่ปุ่นที่ผลิตในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.8% มาอยู่ที่ 25,968 คัน โดยยอดขายของแบรนด์ต่างประเทศ ประเภทรถยนต์นั่ง รถบรรทุก และรถบัส ปรับตัวขึ้น 17.7% ไปแตะ 20,695 คัน และรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นก็มียอดขายทะยานขึ้น 63.3% อยู่ที่ 5,273 คัน

• ครม.จีน ระบุว่า จีนควรจะมีศูนย์ซื้อขายสินค้าตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งในระดับภูมิภาคและในเมืองใหญ่ๆ ให้มากกว่านี้เพื่อส่งเสริมการค้าภูมิภาค โดยหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรขยายโอกาสทางธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้นด้วยการขายผ่านโทรศัพท์กับโปรโมชั่นทางโทรทัศน์ ส่วนเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นควรหันมาสร้างร้านค้าชุมชน และตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรในราคาย่อมเยาว์ให้มากขึ้น เพื่อให้รับกับความต้องการของผู้บริโภค

• รัฐบาลเกาหลีเหนือมีมติผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่มีผลเฉพาะเขตอุตสาหกรรมพิเศษในประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งนี้ กฏหมายดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติ ทั้งยังมีผลดีต่อแรงงานที่ทำงานให้กับบริษัทที่จะเปิดทำการในเขตอุตสาหกรรมพิเศษนี้อีกด้วย

• อองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านประเทศพม่า ประกาศจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐบาลทหารในอดีตร่างขึ้นเพื่อปิดกั้นไม่ให้เธอสามารถลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพม่า

• ผ.อ.สำนักงานศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าวสาร ของกัมพูชา เปิดเผยว่า ยอดส่งออกข้าวสารของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารได้ถึง 146,800 ตันในเดือน ม.ค.-พ.ค. เพิ่มขึ้น 126% จากเดิม 64,900 ตันในช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมข้าวของประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ของกัมพูชาได้แก่ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ไทย มาเลเซีย และ จีน

Equity Market
----------------



• SET Index ปิดที่ 1,490.21 จุด ลดลง 32.45 จุด หรือ -2.13% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 68,645.95 ล้านบาท โดยดัชนีปรับตัวลงแรงและหลุดแนว 1,500 จุด หลังต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยอย่างหนาแน่นตลอด 3 วันทำการที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยืนยันถึงความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน อีกทั้ง มูดีส์ ก็ยืนยันว่าอันดับความน่าเชื่อของไทยยังไม่เผชิญกับความเสี่ยงจากโครงการจำนำข้าว จึงส่งผลให้ดัชนีฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยหุ้นหลักอย่าง ADVANC +0.4%, KBANK +0.8%, PTT +1.2% ฟื้นตัวปิดเป็นบวก จึงช่วยประคองตลาดได้บ้าง ส่วนกลุ่มอสังหาฯ ถูกแรงขายหนัก ทำให้ปรับตัวลงแรง เช่น CK -8.0%, QH -6.2%, SPALI -5.8%, SIRI -5.7%, AP -4.1%

สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม (ล้านบาท)
-----------------------------------------------------


นักลงทุนสถาบัน +1,714.59
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -573.91
นักลงทุนต่างชาติ -4,711.58
นักลงทุนทั่วไป +3,570.90

• NIKKEI ปิดที่ระดับ 12,904.02 ลดลง -0.9% เป็นการปิดลบสู่ระดับต่ำกว่า 13,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากการปรับตัวลงของหุ้นส่งออกและกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น Tokyo Electric Power ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยปรับตัวลงแล้ว 23% ใน 2 วันที่ผ่านมา หลังนายกรัฐมนตรีนาย อาเบะ ยังไม่ระบุถึงการกลับมาดำเนินการของโรงงานนิวเคลียร์

Fixed Income Market
------------------------


• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวในช่วง 0.00% ถึง -0.05%

• ธนาคารกลางยุโรป มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยอีซีบีมีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจยูโรโซนให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย

• ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% พร้อมกับคงขนาดโครงการซื้อพันธบัตรที่วงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์ หรือ 5.77 แสนล้านดอลลาร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น